คุณภรณี ทองเย็น รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า จากตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในไตรมาส 3 ปีนี้ที่ 4.3% เทียบกับงวดเดียวกันปีก่อน สูงสุดในรอบ 18 ไตรมาส และดีกว่าที่ฝ่ายวิจัยฯคาดไว้ที่ 3.6% ฝ่ายวิจัยฯ จึงปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2560 เป็นขยายตัว 3.8% จากเดิม 3.5% และปี 2561 ขยายตัวเพิ่มเป็น 4.2% จากเดิม 4.0%
"แนวโน้มไตรมาส 4 และปีหน้า เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง เครื่องจักรทุกตัว พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีหน้า ไม่ว่าจะเป็นการส่งออก การบริโภคภาคครัวเรือน การลงทุนภาคเอก และการลงทุนภาครัฐ" คุณภรณี กล่าว
การส่งออกของไทยยังเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก ฝ่ายวิจัยฯ เพิ่มเป้าหมายการส่งออกปีนี้เติบโตถึง 9.5% จากเดิมคาดไว้เพียง 5.5% เนื่องจากประเทศคู่ค้าฟื้นตัว เห็นได้จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เพิ่มคาดการณ์อัตราการเติบโตทางการค้าอีก 0.4% เป็น 4.2% ในปีนี้ และปีหน้าเพิ่มอีก 0.1% เป็น 4.0% และ IMF ยังเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกปีนี้และปีหน้า ที่ 3.6% และ 3.7%
ด้านการลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะฟื้นตัวได้ดีในปี 2561 จากการส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคตะวันออก หรือ EEC โดยยอดขอส่งเสริมการลงทุนจาก BOI สิ้นไตรมาส 2 ปีนี้ สูงถึง 3 แสนล้านบาท เพิ่มจากไตรมาส 1 ที่มีเพียง 6 หมื่นล้านบาท โดย 46% ของยอดขอส่งเสริมฯ เป็นการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล
สำหรับการลงทุนภาครัฐ เชื่อว่าปีหน้าจะเร่งตัวขึ้น หลังจากช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีโครงการประมูลเพียง 4 แสนล้านบาท คิดเป็น 17% ของเงินลงทุนรวมที่รัฐวางแผนระยะยาวปี 2558-2565 วงเงิน 2.4 ล้านล้านบาท ยังเหลือโครงการที่ต้องเปิดประมูลอีกถึง 2 ล้านล้านบาท หรือราว 83% จึงคาดว่าปีหน้า งานประมูลภาครัฐจะทยอยออกมาต่อเนื่อง
ส่วนภาคบริโภคภาคครัวเรือน ซึ่งคิดเป็น 48% ของ GDP มีปัจจัยหนุนหลักจากกำลังซื้อในประเทศที่ค่อยๆ ฟื้นตัว ตามผลผลิตภาคการเกษตรที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าราคาสินค้าเกษตรหลายตัวจะชะลอก็ตาม นอกจากนี้ ประชาชนยังคลายความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในประเทศ สะท้อนจากความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CCI) ขยายตัว 3 เดือนติดต่อกัน
คุณภรณี กล่าวถึง อัตราเงินเฟ้อว่า ช่วงที่เหลือของปีนี้ เชื่อว่าเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากเดือน ต.ค.ซึ่งขยายตัว 0.86% ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่คาดว่าจะยืนเหนือ 60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยรวมปีนี้คาดเงินเฟ้อเฉลี่ยที่ 1.07% และปีหน้าคาด 1.26%
ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ล่าสุดอยู่ที่ 1.5% นับตั้งแต่เดือนก.ย.ปี 2558 ซึ่งยังห่างจากเงินเฟ้ออย่างมีนัยสำคัญ จึงคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.5% ไปจนถึงกลางปี 2561 และคาดว่าจะปรับขึ้นราว 0.25% ในครึ่งหลังปีหน้า