เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 27 พ.ย.60 นางสาวดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ ผู้อำนวยการยาสูบ พร้อมด้วยคณะกรรมการอำนวยการโรงงานยาสูบ และคณะผู้บริหาร ร่วมกันแถลงข่าว "ผลกระทบจากพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560" โดยได้เปิดเผยถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังจากการบังคับใช้ พ.ร.บ.สรรพสามิตฉบับใหม่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อรัฐและโรงงานยาสูบ อีกทั้งเป็นช่องทางให้บุหรี่ต่างประเทศลดราคาขายต่ำกว่าความเป็นจริง ทำให้บุหรี่ที่ผลิตโดยโรงงานยาสูบมียอดจำหน่ายลดลง ส่งผลให้รัฐสูญเสียรายได้จากโรงงานยาสูบ โดยคาดการณ์ว่าในปีงบประมาณ 2561 รัฐจะสูญเสียรายได้จากเงินนำส่งรัฐในรูปแบบภาษีต่างๆ เป็นมูลค่ากว่า 12,725 ล้านบาท ได้แก่ รายได้ที่โรงงานยาสูบนำส่งรัฐ ค่าแสตมป์ยาสูบ ภาษีสรรพสามิต ภาษีเพื่อราชการส่วนท้องถิ่น (มหาดไทย) ภาษีเงินได้ชำระแทนผู้ประกอบการค้า ภาษีองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) รวมถึงเงินบำรุงกองทุนสนับสนุน
การเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (สสท.) กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ (กกท.) และเงินสนับสนุนสร้างสวนป่าเบญจกิติ
นางสาวดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ ผู้อำนวยการยาสูบ กล่าวว่า ผลพวงจากการปรับขึ้นภาษีในครั้งนี้ ทำให้เกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ เนื่องจากมีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจยาสูบจำนวนมาก นับตั้งแต่เกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบกว่า 20,000 ครัวเรือน ที่สูญเสียรายได้จากความต้องการใบยาสูบลดลง รวมไปถึงประชาชนผู้ประกอบการร้านค้ายาสูบทั่วประเทศอีกกว่า 500,000 ราย ที่ได้รับผลกระทบจากรายได้ที่ลดลงและต้นทุนที่สูงขึ้น หากเกิดสภาวะเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จะส่งผลต่อองค์กรของรัฐและการดำเนินการต่างๆ
ที่เกี่ยวข้อง นอกเหนือจากรายได้และภาษีที่รัฐได้รับน้อยลง ทำให้แผนการย้ายโรงงานผลิตยาสูบแห่งใหม่ล่าช้าไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และส่งผลกระทบต่อการส่งมอบพื้นที่เพื่อสร้างสวนป่าเบญจกิติ เนื่องจากขาดสภาพคล่องทางการเงิน
ผู้อำนวยการยาสูบ กล่าวในที่สุดว่า คณะผู้บริหารโรงงานยาสูบมิได้นิ่งนอนใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และพยายามหาทางรับมือกับผลกระทบต่างๆ เพื่อให้กิจการของโรงงานยาสูบสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่ และในวันนี้ โรงงานยาสูบพิจารณาแล้วว่าเราจำเป็นต้องเสนอให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาทบทวนโครงสร้างอัตราภาษีใหม่และศึกษาถึงผลกระทบให้รอบด้านครบทุกมิติ ตลอดจนผลดี ผลเสีย และความเสียหายต่อประเทศชาติ เพราะท้ายที่สุดแล้ว ภาครัฐเองที่จะต้องสูญเสียรายได้เป็นมูลค่ามหาศาล จนทำให้บุหรี่ต่างประเทศสามารถครอบงำตลาดบุหรี่ในประเทศไทยได้อย่างเบ็ดเสร็จ และทำลายโรงงานยาสูบซึ่งเป็นสมบัติของชาติที่สร้างรายได้ให้รัฐนำไปพัฒนาประเทศมายาวนานกว่า 78 ปี