ด้านนายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การประเมินผลโครงการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning by Agri-Map) ปีงบประมาณ 2559 และ 2560 ซึ่งมีกรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานหลัก เพื่อส่งเสริมสนับสนุน จูงใจให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการผลิตทางการเกษตรในพื้นที่ไม่เหมาะสม (N) และเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นหลังจากการปรับเปลี่ยนการผลิต
ในการนี้ สศก. ได้ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลการปรับเปลี่ยนการผลิตจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการของปีงบประมาณ 2559 ในพื้นที่นำร่อง 3 จังหวัด ได้แก่ บุรีรัมย์ ชัยภูมิ และอุทัยธานี ในช่วงเดือนมิถุนายน 2560 และของปีงบประมาณ 2560 ในพื้นที่ 15 จังหวัด ประกอบด้วย ภาคเหนือ 3 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 จังหวัด ภาคกลาง 2 จังหวัด ภาคตะวันออก 2 จังหวัด และภาคใต้ 3 จังหวัด ในช่วงเดือนสิงหาคม 2560 พร้อมติดตามผลการดำเนินงาน พบว่า
ปีงบประมาณ 2559 มีการปรับเปลี่ยนการผลิตทั้งสิ้น 32,618 ไร่ ในพื้นที่ 49 จังหวัด เกษตรกรจำนวน 10,502 ราย โดยในพื้นที่นำร่อง 3 จังหวัด มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสม (N) สำหรับการปลูกข้าว เป็นสินค้าที่เหมาะสมรวมทั้งสิ้น 3,930 ไร่ เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 950 ราย เมื่อปรับเปลี่ยนแล้วเกษตรกรมีผลตอบแทนสุทธิรวมทั้งสิ้นประมาณ 28.7 ล้านบาท/ปี (เฉลี่ย7,303 บาท/ไร่/ปี) เพิ่มจากเดิมที่มีผลตอบแทนสุทธิรวม 3.4 ล้านบาท/ปี (เฉลี่ย 864 บาท/ไร่/ปี) โดยมีผลตอบแทนสุทธิรวมเพิ่มขึ้น 25.4 ล้านบาท/ปี (เฉลี่ย 6,463 บาท/ไร่/ปี) จากสินค้าชนิดใหม่ที่ผลิต ได้แก่ การทำเกษตรผสมผสาน 2,220 ไร่ ปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ 1,470 ไร่ การผลิตอ้อยโรงงาน 145 ไร่ ปลูกหม่อน 55 ไร่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 30 ไร่ และเลี้ยงปลา 10 ไร่ โดยเกษตรกรส่วนใหญ่มีความพึงพอใจในระดับมาก
ปีงบประมาณ 2560 มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสม (N) สำหรับการปลูกข้าว เป็นสินค้าที่เหมาะสมรวมทั้งสิ้น 157,701 ไร่ ในพื้นที่ 53 จังหวัด เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 30,444 ราย ประกอบด้วย อ้อยโรงงาน 88,132 ไร่ เกษตรผสมผสาน 38,287 ไร่ พืชอาหารสัตว์ 20,767 ไร่ ปาล์มน้ำมัน 5,427 ไร่ มันสำปะหลัง 2,439 ไร่ ประมง 2,061 ไร่ และหม่อน 588 ไร่ ทั้งนี้จากการประเมินผลในเบื้องต้น พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการมีความพึงพอใจในระดับมาก เนื่องจากได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการผลิต ได้ทราบถึงความเหมาะสมของการผลิตในพื้นที่ตนเอง ได้รับการสนับสนุนปัจจัยในการปรับเปลี่ยนการผลิต และมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำปรึกษาแนะนำในการผลิตอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม สศก. จะทำการประเมินผลลัพธ์ของโครงการปีงบประมาณ 2560 อีกครั้งในช่วงเดือนพฤษภาคม 2561 และจะนำเสนอผลการประเมินให้ทราบต่อไป
ทั้งนี้ การขับเคลื่อนโครงการในระยะต่อไปจะมีการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผลิตสินค้าที่ให้ผลตอบแทนระยะสั้น เช่น พืชผักสวนครัว ปศุสัตว์ เกษตรผสมผสาน ควบคู่กับการผลิตสินค้าที่ให้ผลตอบแทนระยะกลาง เช่น อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ในพื้นที่โครงการปี 2559 - 2561 เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เสริมระหว่างรอผลผลิตจากพืชหลักซึ่งเป็นการสร้างความเข้มแข็งทางรายได้และลดความเสี่ยงให้เกษตรกรไม่หันกลับไปผลิตสินค้าชนิดเดิม