นางณัฐญา นิยมานุสร ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า "ปัจจุบันประชาชนมีแนวโน้มลงทุนและออมเงินมากขึ้น โดยพยาพยามแสวงหาการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนสูงขึ้น ซึ่งการลงทุนในกองทุนรวมเป็นทางเลือกหนึ่งที่นิยม จึงเห็นการเติบโตของกองทุนรวมเพิ่มขึ้นทุกปี ย้อนไปเมื่อปี 2555 มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม (NAV) อยู่ที่ 2.28 ล้านล้านบาท และในปี 2560 มูลค่า NAV ของกองทุนรวม ณ สิ้นเดือนมิถุนายน อยู่ที่ 4.45 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.95 เท่า สำหรับจำนวนผู้ถือหน่วยลงทุน ปี 2555 มีจำนวน 3.55 ล้านบัญชี ปัจจุบันมีจำนวน 5.39 ล้านบัญชี หรือเพิ่มขึ้น 1.51 เท่า
ในขณะเดียวกัน สังคมไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบภายใน 4 ปี โดยในปี 2564 จะมีประชากรผู้สูงอายุคิดเป็น 20% ของประชากรทั้งหมด ความช่วยเหลือจากภาครัฐเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ จึงเป็นความท้าทายของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประชาชนทุกคนที่ต้องเตรียมความพร้อมเพื่อให้มีเงินใช้พอในระยะยาว ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบผู้ที่อยากมีสุขภาพที่ดี ก็ต้องออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หากอยากมีสุขภาพทางการเงินที่ดี ก็ต้องมีวินัยในการลงทุนและการออมเช่นกัน
ด้วยเหตุนี้ ก.ล.ต. จึงมีเป้าหมายที่อยากให้คนไทยมีสุขภาพทางการเงินที่ดี เพื่อรองรับความต้องการใช้เงินในระยะยาว ซึ่งการจะไปถึงเป้าหมายดังกล่าวได้ ต้องมีการวางแผนทางการเงิน เรียนรู้การจัดสรรการลงทุนให้เป็น และสร้างวินัยในการลงทุนอย่างจริงจัง ซึ่งโจทย์หนึ่งที่สำคัญคือ จะทำอย่างไรให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนี้และเริ่มปฏิบัติทันที รวมทั้งการมีบริการด้านการวางแผนการเงิน มีสินค้าและบริการด้านตลาดทุน ที่คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงได้
ก.ล.ต. พร้อมสนับสนุนภาคธุรกิจที่จะให้บริการด้านนี้ทั้งรายปัจจุบันและรายใหม่ รวมทั้งส่งเสริมการนำฟินเทคมาให้บริการแก่ประชาชนด้วย นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังได้ออกแบบตัวช่วยแนะแนวการลงทุนที่ผู้ลงทุนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง อาทิ โปรแกรม Retirement-Checkup สำหรับประเมินจำนวนเงินที่จำเป็นต้องใช้หลังเกษียณ และ mobile application "Start to Invest" เครื่องมือที่ให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุน โดยพยายามเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ลงทุน ให้มีทางเลือกหลากหลาย และเข้าใจความเสี่ยงในการลงทุนประเภทต่าง ๆ"
"วันนี้อยากให้คนไทยทุกคนตระหนักว่าการวางแผนทางการเงินเป็นทักษะชีวิตที่สำคัญมาก การมีสุขภาพทางการเงินที่ดี เป็นเรื่องที่ต้องเริ่มทำทันที และต้องมีวินัยอย่างจริงจังด้วยการ ออมมาก ออมนาน และออมเป็น" นางณัฐญากล่าวสรุป