นางวสุกานต์ วิศาลสวัสดิ์ กรรมการและผู้จัดการ บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) เปิดเผยว่า "การเสนอขายพันธบัตรครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนแสดงความจำนงจองซื้อพันธบัตรมากเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ถึงประมาณ 2.6 เท่า ในช่วงการ bookbuild เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา โดยกลุ่มนักลงทุนที่แสดงความสนใจมีทั้งนักลงทุนรายใหม่ที่ไม่เคยลงทุนในตราสารของ บตท. มาก่อน นักลงทุนเดิมที่ร่วมลงทุนในพันธบัตร บตท. รุ่นก่อนๆ อย่างสม่ำเสมอ และ นักลงทุนที่ให้ความสนใจลงทุนในพันธบัตร บตท. เป็นครั้งแรก นอกเหนือจากที่เคยลงทุนเฉพาะในหุ้นกู้โครงการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ที่หนุนหลังด้วยสินเชื่อที่อยู่อาศัย (Mortgage-Backed Securities) ของ บตท. ทั้งนี้ พันธบัตรครั้งนี้ ได้รับการจัดอันดับเครดิตจากทริสเรทติ้ง เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ที่ผ่านมาที่ระดับ AA- / Stable Outlooks ซึ่งเท่ากับอันดับเครดิตขององค์กร เช่นเดียวกับพันธบัตรรุ่นที่ผ่านๆ มา"
นางวสุกานต์ กล่าวเสริมว่า "ในอนาคต บตท. มีแผนจะจัดซื้อสินเชื่อที่อยู่อาศัยจากสถาบันที่มิใช่ธนาคาร แต่จะพิจารณาถึงการทำธุรกรรมกับผู้ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ เช่น การเคหะแห่งชาติ เป็นการเอาจุดแข็งของ บตท. ในการจัดหาเงินทุนระยะยาว มาช่วยหล่อลื่นการขยายตัวของธุรกิจที่อยู่อาศัยให้กับหน่วยงานภาครัฐ โดยออกตราสารหนี้ที่เรียกว่า Asset-Backed Securities หรือ "ABS" เพื่อเป็นแหล่งทุนในการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อยได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองได้อย่างทั่วถึง เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านที่อยู่อาศัยให้กับคนไทย ตามวิสัยทัศน์ บตท. ที่กำหนดไว้ว่า "เป็นกลไกในการจัดหาเงินทุนระยะยาว รองรับการขยายตัวของระบบสินเชื่อที่อยู่อาศัย เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย" ซึ่งคาดว่าจะเห็นเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนในปีหน้านี้ค่ะ" และจากผลของการแก้ไขกฎหมาย บตท. ที่ผ่านมาเมื่อเร็วๆ นี้ ต่อไปขอบเขตการทำธุรกรรมของ บตท. ก็จะกว้างขวางขึ้นอีก โดยจะสามารถขยายไปถึงกลุ่มผู้ทำธุรกิจให้สินเชื่อในรูปแบบให้จำนองที่อยู่อาศัย ให้เช่าซื้อ และให้เช่าแบบลิซซิ่ง ซึ่งยังจะต้องมีการพิจารณาหารูปแบบทางธุรกิจที่เหมาะสมต่อไป
บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ประเภทสถาบันการเงินในสังกัดกระทรวงการคลัง มีวัตถุประสงค์หลักในการพัฒนาตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย ด้วยการนำหลักการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์มาใช้เพื่อให้สามารถระดมทุน เพื่อสนับสนุนผู้ที่ต้องการขยายสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้เพียงพอและสม่ำเสมอ เพื่อสร้างเสถียรภาพด้านสินเชื่อที่อยู่อาศัยในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ