นวัตกรรมทางสังคม สู่วาทกรรมที่ยั่งยืน

พุธ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๐๑๗ ๑๗:๑๖
บทความโดย : ผศ. ดร.วีรณัฐ โรจนประภา

นักวิชาการด้านสังคมผู้สูงวัย นายกสมาคมบ้านปันรัก

โลกปัจจุบันนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว สิ่งต่างๆ ที่เพียรก่อร่างพัฒนามาอาจกลายเป็นความสูญเปล่าเพียงชั่วแค่ข้ามคืน ในระยะหลังจำเป็นต้องมีคำคุณศัพท์ขยายเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งคำ ซึ่งเราคุ้นหูกันดี นั่นคือคำว่า "ความยั่งยืน" ที่มักใช้ร่วมกับคำว่า "พัฒนา" จนกลายเป็นโจทย์บนหลายเวทีว่า...

ทำอย่างไรถึงจะเกิดการ "พัฒนาอย่างยั่งยืน ?"

ในเวทีสัมมนาวิชาการของคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในหัวข้อ "การสร้างนวัตกรรมสังคมสงเคราะห์ และการพัฒนาชุมชนสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน" นั้นผมในฐานะนักวิชาการด้านสังคมผู้สูงวัย และนายกสมาคมบ้านปันรัก ได้มองความ "ยั่งยืน" ในอีกมุมคือ สิ่งใดที่ทำให้การพัฒนาสังคมนั้น "ไม่ยั่งยืน" ซึ่งเมื่อตีโจทย์ในมุมนี้ จะทำให้เห็น 2 ประเด็น คือ

1.ความไม่ยั่งยืนของประเทศไทย (หรือประเทศใด ๆ ก็ตาม) ล้วนมาจากการรุกรานจากประเทศภายนอกนั่นเอง โดยมีเหตุจากการรุกรานด้วยหวังผลประโยชน์จากทรัพยากร หรือจากระบบตลาด เป็นต้น

2.เมื่อเห็นผู้ที่จะมาทำลายความยั่งยืนแล้ว ต่อไปก็ต้องมาหาว่า แล้วเขาจะใช้อะไรมายึดครองประเทศเรา นั่นคือการหา "อาวุธ" ที่ประเทศภายนอกจะใช้ในการโจมตีสังคมของเรานั่นเอง

อาวุธยุคนี้ไม่เหมือนยุคดึกดำบรรพ์ ที่มีเพียงแรงกายของหัวหน้าเผ่า หรืออาจจะหินอีกสักก้อนก็พอแล้ว และไม่ได้ตรงไปตรงมาแบบยุคเกษตรกรรม ที่ใช้ปืน ผา หน้าไม้ อีกทั้งไม่ได้เด่นชัดว่าคือเงินทุนเหมือนในยุคอุตสาหกรรม แต่สิ่งที่ซ่อนรูปและทำให้ซับซ้อนมากขึ้น ก็คือ "ความรู้"

ดังนั้น คำถามจากโจทย์ของเวทีก็คือ แล้วจะหานวัตกรรมใดมาสร้างให้คนมีความรู้ ?

คำตอบ ย่อมไม่ใช่การใช้อำนาจสั่งให้คนไปศึกษาเล่าเรียน หรือไปบังคับกันตรงๆ แต่เป็นการใช้ "อำนาจที่ซ่อนรูป" ทำให้คนเกิดความใฝ่ที่จะอยากเรียนรู้ด้วยตนเอง ซึ่งเมื่อมาผนวกเข้ากับสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปจากสังคมอุตสาหกรรมมาสู่สังคมโซเชียล คนสื่อสารกันด้วยสัญลักษณ์ หรือที่เรียกว่า "สังคมเชิงสัญลักษณ์" ก็พอจะเห็นภาพว่า นวัตกรรมชิ้นต่อไปที่จะเปลี่ยนโลกก็คือสิ่งที่เรียกว่า "วาทกรรม" (Discourse) หรือ "ผลึกความรู้" ที่จะส่งทั้งความจริง ความรู้ และกรอบที่ต้องการออกไปสู่ผู้รับสาร

วาทกรรมนี้ เป็นเสมือนเครื่องมือชิ้นใหม่ล่าสุด ที่ผู้มีอำนาจใช้ปกครองคนในยุคข้อมูลข่าวสาร เป็นเครื่องมือที่ทรงอานุภาพยิ่งกว่านวัตกรรมที่พึ่งอาวุธยุทโธปกรณ์ใดๆ ที่มนุษย์เคยผลิตออกมา "วาทกรรม" นี้เองจะนำความจริงที่ปรากฏ มาผูกกับความรู้ในมุมมองที่ต้องการ แล้วบูรณาการเข้ากับอำนาจที่จะใช้เพื่อการไปสู่เป้าหมายนั้น ซึ่งผู้โดนอาวุธนี้ จะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าตัวเองถูกปกครองอยู่ นี่คือสิ่งที่โลกกำลังดำเนินไป ซึ่งเราอาจนำมาประยุกต์เพื่อตอบโจทย์บนเวทีนี้ว่า นวัตกรรมที่พึงประสงค์ในการพัฒนาอย่างยั่งยืนนี้ ก็คือ "การใช้ความคิดสร้างสรรค์รังสรรค์ 'วาทกรรม' ที่จะทำให้คนมีแรงบันดาลใจใฝ่เรียนรู้นั่นเอง!"

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ