นายวีระ กล่าวว่า ในส่วนงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย มอบหมายให้คัดเลือกสุดยอดผลงานศิลปะร่วมสมัย3 สาขา ได้แก่
1.เรขศิลป์
2.ออกแบบเครื่องแต่งกาย (แฟชั่น)
และ 3.ประณีตศิลป์
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย เมื่อเร็วๆ นี้ เห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาคัดเลือกสุดยอดงานศิลปะร่วมสมัยในรัชกาลที่ 9 จำนวน 3 ชุด ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านนั้น ๆ และบุคคลในวงการเพื่อกำหนดรายละเอียด เกณฑ์การพิจารณาและดำเนินการคัดเลือกสุดยอดผลงานในแต่ละสาขา ทั้งนี้คณะอนุกรรมการฯ ได้ประชุมกำหนดเกณฑ์การคัดเลือกแล้ว 2 สาขา ได้แก่ เรขศิลป์ และสาขาแฟชั่น
นายวีระ กล่าวต่อว่า สำหรับสาขาเรขศิลป์จะเฟ้นหาสุดยอดผลงานทั้งหมด 27 ผลงาน 3 หมวด ได้แก่
1.หมวดสิ่งพิมพ์ แยกย่อยออกเป็นประเภทหนังสือ นิตยสาร วารสาร โปสเตอร์ หนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์ การออกแบบเชิงข้อมูล กราฟิกบนผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ และกราฟิกเพื่อสภาพแวดล้อม
2.หมวดสื่ออัตลักษณ์ แยกเป็นงานออกแบบที่เกี่ยวกับตัวอักษร ตราสัญลักษณ์ โลโก้และเครื่องหมาย และการออกแบบอัตลักษณ์
3. หมวดสื่อผสมและภาพเคลื่อนไหว แยกเป็นการออกแบบสื่อเคลื่อนไหว การออกแบบสื่อปฏิสัมพันธ์ และการออกแบบสื่อผสม"
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า เกณฑ์การคัดเลือกจะเน้นผลงานที่สื่อให้เห็นถึงคุณค่าทั้งทางอารมณ์และความคิด มีความสร้างสรรค์ สร้างปรากฏการณ์ใหม่ๆ ให้กับวงการเรขศิลป์จุดประกายให้เกิดการเรียนรู้เรขศิลป์ในสังคม สร้างองค์ความรู้เพื่อพัฒนาต่อยอดในอนาคต และต้องไม่มีเนื้อหาขัดต่อศีลธรรม ดูหมิ่นหรือละเมิดผู้ใด ทั้งนี้ การเสนอชื่อผลงานจะดำเนินการผ่านคณะอนุกรรมการซึ่งจะเป็นทั้งผู้เสนอชื่อเองและเป็นตัวกลางรวบรวมรายชื่อที่ถูกเสนอมาจากสมาคมวิชาชีพต่างๆ โดยจะประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออนไลน์ให้เสนอผลงานภายในวันที่ 8 ธันวาคม นี้ส่วนสาขาออกแบบเครื่องแต่งกายเฟ้นหาสุดยอดผลงาน 3 ยุค คือยุคห้องเสื้อ (ค.ศ.1946-1979) ยุคแบรนด์และเสื้อผ้าสำเร็จรูปยุคแรก (ค.ศ.1980-2000) และยุคเสื้อผ้าสำเร็จรูปยุคหลังถึงปัจจุบัน (ค.ศ.2000-2016) โดยแต่ละยุคจะคัดเลือกออกมา 5 ประเภท ได้แก่ 1.ประเภทเสื้อผ้าชั้นสูง ที่ใช้ความประณีตละเอียดอ่อนในการตัดเย็บทุกขั้นตอน 2.เสื้อผ้าบูติก/ห้องเสื้อ เป็นการตัดเย็บเครื่องแต่งกายเฉพาะบุคคลโดยห้องเสื้อต่างๆ 3.เสื้อผ้าสำเร็จรูป 4. เสื้อผ้ากึ่งศิลปะ เสื้อผ้าที่ออกแบบเฉพาะโอกาส เช่น เสื้อผ้างานประกวดต่าง ๆ และ 5.เสื้อผ้าการแสดง
ทั้งนี้ ผลงาน/แบรนด์/นักออกแบบต้องผ่านเกณฑ์การพิจารณาไม่น้อยกว่า 2 เกณฑ์จาก 3 เกณฑ์ ดังนี้
1.เป็นผลงาน/แบรนด์/นักออกแบบที่ได้รับการยอมรับ เชิดชู หรือได้รับรางวัลระดับประเทศ หรือมีความความโดดเด่นดีเลิศในเชิงการออกแบบ มีคุณค่าในเชิงสุนทรียศาสตร์
2.เป็นผลงานที่ถือเป็นต้นแบบหรือสร้างแรงบันดาลใจสำหรับนักออกแบบเครื่องแต่งกายในสมัยรัชกาลที่ 9
และ 3. เป็นผลงานที่ถือเป็นจุดเริ่มหรือจุดเปลี่ยนของวงการออกแบบเครื่องแต่งกายไทยในสมัยรัชกาลที่ 9