นางวรัชญา ศรีมาจันทร์ ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า "ปัจจุบันตลาดทุนได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงมากมาย อาทิ พัฒนาการของเทคโนโลยี ตลาดการเงินโลกที่เชื่อมโยงกันมากขึ้น การแข่งขันที่สูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงรูปแบบพฤติกรรม และความต้องการของผู้ระดมทุน ผู้ประกอบธุรกิจ และผู้ลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไป ก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลจึงต้องปรับตัว โดยนอกจากการดูแลความเรียบร้อยและความน่าเชื่อถือของตลาดทุนแล้ว จะต้องทำให้กฎเกณฑ์และมาตรการต่าง ๆ ง่ายกับการประกอบธุรกิจ (ease of doing business) สร้างแรงจูงใจให้เกิดการแข่งขัน เพื่อพัฒนาคุณภาพกิจการที่ดีต่อผู้ลงทุน และสร้างคุณค่าให้แก่กิจการและสังคมควบคู่กันไปด้วย"
ก.ล.ต. จึงดำเนินโครงการปฏิรูปกฎเกณฑ์ (regulatory reform) โดยทบทวนกฎเกณฑ์ที่มีอยู่เดิมให้มีเท่าที่จำเป็น โดยในระยะที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้จ้างผู้เชี่ยวชาญมาช่วยในการทบทวนหลักเกณฑ์การยื่นคำขออนุญาต เกณฑ์ป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ได้เชิญผู้มีส่วนร่วมในตลาดทุนให้เข้ามามีส่วนร่วมในทุกกระบวนการ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการสรุปผล และในปี 2561 จะทบทวนคำขออนุญาตประเภทต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 250 ประเภทให้เหลือเท่าที่จำเป็น เพื่อลดภาระต้นทุนของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
สำหรับในด้านการออกกฎเกณฑ์ใหม่ จะนำมาตรฐานสากลในการประเมินผลกระทบ (regulatory impact assessment: RIA) มาปรับใช้ เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาได้ตรงประเด็น ใช้กฎเกณฑ์เท่าที่จำเป็น พิจารณาการใช้เทคโนโลยีและมาตรการอื่นประกอบ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาแข่งขันด้านคุณภาพ สอดคล้องกับความต้องการของผู้ที่เกี่ยวข้อง บังคับใช้ได้จริง รวมทั้งไม่สร้างภาระเกินจำเป็นแก่ภาคธุรกิจด้วย
"การออกเกณฑ์ การกำกับดูแล และการทบทวนรักษากฎเกณฑ์ให้มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง จำเป็นต้องมีกลไกธรรมาภิบาล ก.ล.ต. มากำกับกระบวนการตัดสินใจ การดำเนินงานในทุกระดับให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ทิศทาง กลยุทธ์ขององค์กร และเป็นไปเพื่อประโยชน์ สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน ผู้ลงทุน ผู้ประกอบธุรกิจ ผู้ระดมทุน และผู้มีส่วนร่วมในตลาดทุนทุกกลุ่มอย่างเหมาะสมยิ่งขึ้นต่อไป" นางวรัชญา กล่าว