กยท.จ.กระบี่ ปิ๊ง! แนวคิด เชื่อมสถาบันเกษตรกร-ผู้ประกอบกิจการยาง จับมือผลิตรองเท้าแตะยางพาราส่งขาย ผสานต้นน้ำสู่ปลายน้ำ สร้างรายได้เพิ่มมูลค่า

พุธ ๐๖ ธันวาคม ๒๐๑๗ ๑๖:๕๔
การยางแห่งประเทศไทยจังหวัดกระบี่ ผุดไอเดีย ประสานระหว่างสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่ผลิตยางแผ่นรมควัน จับมือผู้ประกอบกิจการยางด้านผลิตภัณฑ์ แปรรูปรองเท้าแตะจากยางพาราจำหน่าย ป้อนกลุ่มนักท่องเที่ยว และธุรกิจโรงแรมในจังหวัด สร้างรายได้เพิ่มมูลค่า พร้อมจำหน่ายแน่!!! ปลายปีนี้

นายพิสิษฐ สุขอนันต์ ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทย จังหวัดกระบี่ กล่าวว่า ในปัจจุบันที่สภาวะราคายางมีความผันผวน ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ได้มอบนโยบายให้ กยท.จ. สนับสนุนให้พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางสามารถประกอบอาชีพการทำสวนยางได้อย่างยั่งยืน คือ การไม่พึ่งพาแค่ราคายางในการขายวัตถุดิบเท่านั้น ดังนั้น การแปรรูปยางพาราสู่ผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ ให้เกิดการใช้จริงและเพิ่มมูลค่า จึงเป็นทางออกที่ทำให้เกษตรกรสามารถสร้างรายได้อย่างมหาศาล กยท. มีบทบาทหน้าที่ในการส่งเสริมให้เกษตรกร สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบกิจการยาง ดำเนินการแปรรูปยางพาราไปสู่ผลิตภัณฑ์ โดยมีการขึ้นทะเบียนทั้งในส่วนของเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบกิจการยาง ซึ่งจากข้อมูลนี้ กยท.จ.กระบี่จึงมีแนวคิดในการเชื่อมผสาน ในส่วนของสถาบันเกษตรกรที่แปรรูปยางแผ่นรมควันเพื่อจำหน่ายอยู่แต่เดิม กับผู้ประกอบกิจการยาง ที่มีความพร้อมในด้านอุตสาหกรรมการผลิตและเครื่องจักร ดำเนินการผลิตให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถออกจำหน่ายสร้างรายได้เพิ่มมูลค่า

นายพิสิษฐ กล่าวต่อว่า สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดกระบี่ที่เข้าร่วม ได้แก่ สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านบางบอน จำกัด สหกรณ์กองทุนสวนยางปากน้ำ จำกัด และสหกรณ์กองทุนสวนยางน้ำจานสามัคคี จำกัด นำยางแผ่นรมควันชั้น 3 แปรรูปเป็นยางคอมปาวด์ ส่งให้ผู้ประกอบกิจการยางภาคเอกชนนำไปผลิตเป็นรองเท้าแตะ และส่งให้ทางสถาบันเกษตรกรจำหน่ายภายใต้แบรนด์ของกลุ่มสถาบันเกษตรกรเอง โดยทาง กยท. เป็นตัวกลางในการประสาน และสนับสนุนเงินทุน สินเชื่อ สวัสดิการเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง ตาม พรบ.การยางแห่งประเทศไทย มาตรา 49 (3) รวมถึงหาตลาดในการจำหน่ายรองเท้าแตะยางพารา โดยเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยว และแหล่งธุรกิจโรงแรมที่มีความต้องการใช้รองเท้าแตะเพื่อบริการให้แก่แขกที่มาเข้าพัก คาดว่าพร้อมจำหน่ายในช่วงประมาณปลายปีนี้

นายพิสิษฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการสนับสนุนให้สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบกิจการยาง ร่วมมือกันแปรรูปยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่ายแล้ว กยท.จ.กระบี่ ยังส่งเสริมให้เกษตรกรทำอาชีพเสริมปลูกพืชแซมหรือพืชร่วมยาง เป็นการทำเกษตรแบบผสมผสานแทนการปลูกเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวไร่ สับปะรด เป็นต้น หรือแม้แต่การทำปศุสัตว์ร่วมสวนยาง เช่น เลี้ยงแพะ โดย กยท.จ.กระบี่ ได้จัดโครงการอบรมการเลี้ยงแพะในสวนยางทั้งหมด 8 รุ่น แบ่งเป็นอำเภอละ 1 รุ่น มีวิทยากรจากปศุสัตว์ประจำอำเภอ มาถ่ายทอดความรู้ในการเลี้ยงแพะอย่างถูกวิธี เกษตรกรที่ผ่านการอบรมสามารถไปรับพันธุ์แพะจากสมาคมผู้เลี้ยงแพะของจังหวัดกระบี่ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และเกษตรกรสามารถขอรับเงินสนับสนุนตามมาตรา 49 (5) เพื่อให้เกษตรกรไปขยายพันธุ์ต่อยอด ซึ่ง กยท. พร้อมสนับสนุน ส่งเสริม ให้คำแนะนำ พี่น้องเกษตรกรที่มีความสนใจประกอบอาชีพเสริม หรือต้องการแปรรูปยางพาราอย่างเต็มที่ นายพิสิษฐ กล่าวปิดท้าย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ