นายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ประจำเดือนตุลาคม ขยายตัวขึ้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.48 ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 10 เดือนแรกปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 1.38 ส่งสัญญาณบ่งบอกว่าเศรษฐกิจไทยกำลังขยายตัวต่อเนื่องเช่นเดียวกันกับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำแท่ง) ที่ขยายตัวถึง ร้อยละ 14.7 รวมถึงการนำเข้าสินค้าทุนที่ขยายตัวร้อยละ 6.1 และการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำแท่ง) ที่ขยายตัวถึงร้อยละ 13.8 โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง น้ำมันพืช เครื่องยนต์สำหรับรถยนต์ แปรรูปผลไม้และผัก และเฟอร์นิเจอร์
อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) มีการขยายตัว ได้แก่
ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 44.67 จากช่วงเดียวกันในปีก่อน จากสินค้ายางแผ่นและยางแท่ง เนื่องจากปีก่อนภาคใต้ประสบปัญหาน้ำท่วมทำให้ไม่สามารถกรีดยางได้ปริมาณน้ำยางจึงมีน้อยกว่า และปีนี้มีการขยายตลาดรวมถึงลูกค้าจีนยังคงมีความต้องการนำเข้าสินค้าจากไทยอย่างต่อเนื่อง
น้ำมันพืช ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 49.71 จากช่วงเดียวกันในปีก่อน จากสินค้าน้ำมันปาล์มดิบ เนื่องจากปีนี้มีฝนตกอย่างต่อเนื่องทำให้ได้ผลผลิตปาล์มสูง ในขณะที่ปีก่อนภาคใต้ประสบปัญหาน้ำท่วมไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลปาล์มได้ รวมถึงภาครัฐมีมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาปาล์มน้ำมันโดยการปรับสัดส่วนการใช้ไบโอดีเซล จากน้ำมันบี 5 เป็นน้ำมันบี 7 ส่งผลให้ระดับการใช้น้ำมันปาล์มดิบเพื่อผลิตเป็นไบโอดีเซลเพิ่มขึ้นประมาณเดือนละ 12,000 ตัน โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2560
เครื่องยนต์สำหรับรถยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.16 จากช่วงเดียวกันในปีก่อน จากสินค้าเครื่องยนต์ดีเซลเป็นหลัก โดยปริมาณการจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.48 ส่วนปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.01
แปรรูปผลไม้และผัก ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.87 จากช่วงเดียวกันในปีก่อน จากสินค้าสับปะรดกระป๋องเป็นหลัก เนื่องจากปีนี้มีฝนตกต่อเนื่องตลอดปี ทำให้ได้ผลผลิตสับปะรดออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ประกอบกับไตรมาส 3 ของปีก่อน พื้นที่เพาะปลูกบางแห่งประสบปัญหาน้ำท่วมทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยกว่าปกติ
เฟอร์นิเจอร์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.95 จากช่วงเดียวกันในปีก่อน จากสินค้าเครื่องเรือนทำด้วยไม้เป็นหลัก โดยมีคำสั่งซื้อจากลูกค้าต่างประเทศเพื่อจำหน่ายในช่วงคริสมาสต์
สำหรับสินค้าในอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ได้แก่
เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน การผลิตเดือนตุลาคมลดลงร้อยละ 22.44 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จากสินค้าคอนเดนซิ่งยูนิต แฟนคอยล์ยูนิต และคอมเพรสเซอร์ จากสภาพอากาศแปรปรวนทำให้ไม่สามารถทำตลาดได้ตามเป้า และจากการชะลอตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลให้ปริมาณการจำหน่ายในประเทศ ลดลงร้อยละ 22.69 ส่วนการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.43 จากการขยายตลาดไปยุโรปเพิ่มขึ้น
เครื่องประดับ การผลิตเดือนตุลาคมลดลงร้อยละ 26.16 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จากสินค้าต่างหู รองมาคือ แหวน จี้ และเพชร ตามการชะลอตัวของตลาดโลกรวมถึงราคาทองคำที่ผันผวน ส่งผลให้ลูกค้าหลัก มีความต้องการบริโภคสินค้าเครื่องประดับและเพชรลดลง
การปั่นเส้นใยสิ่งทอ การผลิตเดือนตุลาคมลดลงร้อยละ 20.11 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จากสินค้าเส้นด้ายและผ้าทอ เช่น ผ้าทอฝ้าย ผ้าทออื่นๆ และด้ายฝ้ายผสม เป็นหลัก โดยลดลงจากตลาดในประเทศและส่งออก ซึ่งตลาดในประเทศประสบปัญหาการนำเข้าสินค้าราคาถูกมาจำหน่ายมากขึ้น ส่วนการส่งออกประเทศคู่แข่งเช่น เวียดนาม จีนได้เข้าไปลงทุนในสิ่งทอต้นน้ำทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าจากไทยลดลง และกลายมาเป็นประเทศคู่แข่งที่สำคัญในตลาดส่งออกแทน