พร้อมกันนี้คณะเจ้าหน้าที่ และเกษตรกรสมาชิกโครงการฯ หุบกะพง ได้ร่วมให้การต้อนรับและรายงานผลการดำเนินงานของโครงการ ไทย- อิสราเอล เพื่อพัฒนาชนบท(หุบกะพง) ให้กับคณะได้รับทราบ ในโอกาสนี้ ตัวแทนชาวบ้านหุบกะพงได้จัดแสดงนิทรรศการตัวอย่างอาชีพการเกษตร และนำผลผลิต ที่ผลิตได้ในโครงการมาจัดแสดงให้ได้ชม ณ ศูนย์สาธิตสหกรณ์โครงการหุบกะพง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันก่อน
สำหรับโครงการ "ไทย – อิสราเอล เพื่อพัฒนาชนบท(หุบกะพง)" แห่งนี้ได้ดำเนินโครงการตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2509 และสิ้นสุดวันที่ 18 สิงหาคม 2514 โดยเป็นความร่วมมือในการพัฒนาด้านการเกษตร การบริหารจัดการน้ำ และเทคโนโลยีการเกษตรในพื้นที่แห้งแล้ง ที่สามารถขยายผลนำไปสู่การพัฒนาด้านการประกอบอาชีพเกษตรกรรมให้เป็นผลสำเร็จแก่เกษตรกรสมาชิกในพื้นที่โครงการจัดพัฒนาที่ดินฯ ตามพระราชประสงค์หุบกะพง อาทิเช่น การปลูกหน่อไม้ฝรั่ง การปลูกพืชสมุนไพร การปลูกป่านศรนารายณ์ การเลี้ยงโคขุน การเลี้ยงแพะ เป็นต้น
โดยเกษตรกรสมาชิกโครงการฯ ได้รวมกลุ่มประกอบอาชีพภายใต้สังกัดสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด สร้างความเข้มแข็ง และยั่งยืนในการประกอบอาชีพของเกษตรกรสมาชิกเป็นออย่างดี ด้วยเป็นการรวมกันผลิต และรวมกันจำหน่าย ปัจจุบันได้ขยายผลองค์ความรู้ต่างๆ ที่หน่วยงานได้เข้าให้การสนับสนุนและส่งเสริมให้แก่ประชาชนทั้งชาวไทย และต่างชาติ ที่เดินทางเข้ามาศึกษาและดูงานภายในโครงการฯ
และเมื่อปี พ.ศ.2550 ที่ผ่านมา ในวโรกาสมหามงคลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเจริญพระชนพรรษา 80 พรรษา ด้วยความร่วมมือและความสัมพันธ์ที่มีมาอย่างยาวนาน สถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ได้ร่วมเฉลิมฉลองกับประชาชนชาวไทย โดยได้มอบต้นทับทิม จำนวน 120 ต้น ซึ่งเป็นทับทิมพันธ์อิสราเอล มาปลูกในพื้นที่ศูนย์สาธิตสหกรณ์โครงการหุบกะพง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ มีนาคม 2550 19 ที่ผ่านมา เพื่อทำการศึกษาทดลองพืชพันธุ์ใหม่สำหรับพื้นที่ ปัจจุบันได้มีการนำกิ่งพันธุ์ทับทิมที่ทำการขยายจากต้นพันธุ์เดิมขยายปลูกเพิ่ม เป็นจำนวน 268 ต้น
ดร. เมเอียร์ ชโลโม เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย กล่าวในระหว่างการเยี่ยมชมโครงการฯ ว่า ตน รู้สึกยินดีที่ได้เดินทางมาเยี่ยมชมโครงการจัดพัฒนาที่ดินฯ ตามพระราชประสงค์หุบกะพง จังหวัดเพชรบุรี แห่งนี้ และเป็นครั้งแรก นับเป็นโครงการที่ดีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นโครงการที่สะท้อนถึงพระวิสัยทัศน์ของพระองค์ท่าน ที่สามารถทำให้เป็นจริงได้ และในฐานะของตัวแทนประเทศอิสราเอล ตนรู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่ง ของการช่วยดำเนินงานในการสนับสนุนโครงการฯ และเพื่อความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทย- อิสราเอล เพื่อพัฒนาชนบท ให้ประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น ทางอิสเอลก็จะสนับสนุนการดำเนินงานของโครงการอย่างต่อเนื่องต่อไป
ทางด้าน นายประกอบ เผ่าพงศ์ สหกรณ์จังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า โครงการตามพระราชประสงค์หุบกระพง นับเป็นโครงการนำร่อง ที่เป็นต้นแบบในการบริหารจัดการชุมชนด้วยระบบสหกรณ์ ร่วมกับประเทศอิสราเอล เช่นการจัดการที่ดินในพื้นที่หุบกระพง ที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกพืช ไม่มีแหล่งน้ำ ประขาชนไม่สามารถใช้ที่ดินเพื่อทำกินได้ การที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงมองเห็นถึงความยากลำบากของประชาชน ทรงช่วยปรับปรุงพื้นที่ทำกินให้เกิดประโยชน์ ถือว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อม
แม้กระทั่งคนที่อยู่ในหุบกระพงวันนี้ ก็ยังกราบแผ่นดินที่ตนอาศัยและทำมาหากินทุกวัน ต่างระลึกถึงพระองค์ท่านอยู่เสมอ เหมือนพระองค์ท่านยังไม่ได้จากไปไหน แต่สิ่งสำคัญที่ประชาชนต่างตระหนักกันเสมอก็คือการสืบสานพระราชดำริ ที่พระองค์ทรงให้ความเมตตาต่อประชาชน ต่อโครงการหุบกระพง ทุกคนจะทำตามพระราชประสงค์ที่พระองค์ท่านได้พระราชทานไว้ และจะรักษาและใช้แผ่นดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ทุกคนที่เป็นชาวหุบกะพงต่างเข้าใจเป็นอย่างดีว่าวันนี้ลูกหลานได้มีที่อยู่ ที่ทำกินอย่างมั่นคงก็เพราะพระองค์ได้เสด็จมาเห็นและได้พระราชทานที่ดินให้เข้ามาอยู่อาศัยและทำกิน ในพื้นที่
"ผมในฐานะที่เป็นส่วนราชการ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดเพชรบุรี ในวันนี้ก็ได้เข้ามาดูแลเพิ่มเติมในส่วนที่ขาดหายไป เช่น ตรงไหนที่ยังไม่ไปสอดคล้องกับระเบียบทั้งหลาย ก็จะให้มีการปรับปรุงแก้ไข สิ่งสำคัญก็คือ เราจะรักษาสิ่งที่ดีๆ ตรงนี้ไว้ จะรักษาความเป็นโครงการพะราชประสงค์ให้อยู่คู่กับประชาชนชาวหุบกะพง และประเทศไทยสืบไป" นายประกอบ เผ่าพงศ์ สหกรณ์จังหวัดเพชรบุรี กล่าว