ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และผู้ริเริ่มโครงการ Chair Professor กล่าวว่า "มูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นองค์กรที่ส่งเสริมและสนับสนุนการทำวิจัย ได้เป็นผู้ริเริ่มการสนับสนุนโครงการทุน NSTDA Chair Professor ประจำปี 2552 ขึ้น และแสดงความสนใจสานต่อโครงการฯ จนเกิดเป็นโครงการทุน NSTDA Chair Professor ประจำปี 2554 2556 2558 และ 2560 เรื่อยมา ซึ่งให้การสนับสนุนจำนวน 1 ทุนต่อทุกสองปีเป็นเงิน 20 ล้านบาท ระยะเวลารับทุนต่อเนื่อง 5 ปี โดยมี สวทช. เป็นผู้บริหารจัดการโครงการฯ โดย Chair Professor หรือศาสตรเมธาจารย์ คือ การสร้างศาสตราจารย์ที่เป็นผู้นำกลุ่ม ให้มีโอกาสทำงานวิจัยของตนเองให้เกิดประโยชน์ ได้สร้างสรรค์งานอย่างมีอิสระทางวิชาการ สามารถผสมผสานกระบวนการจัดการวิจัยเชิงวิชาการเข้ากับกระบวนการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้ประโยชน์ เพื่อให้เกิดจุดสมดุลที่เหมาะสมในการพัฒนาการวิจัยในประเทศไทย และก่อให้เกิดผลงานที่ใหม่น่าสนใจกว่าเดิม รวมถึงยังเป็นนักวิจัยต้นแบบ ที่จะช่วยสร้างกำลังใจแก่นักวิจัยรุ่นหลังในการพัฒนาตนเองสู่การเป็นนักวิจัยอาชีพที่สร้างผลงานคุณภาพและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล สร้างทรัพย์สินส่วนรวมที่เป็นความรู้และนวัตกรรมรูปแบบต่างๆ ที่ทุกคนได้เป็นเจ้าของและใช้ร่วมกันในอนาคต"
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า "สวทช. ได้ประกาศรับสมัครข้อเสนอโครงการวิจัย มีขอบเขตสนับสนุนด้าน Translational Research หรือ Applied Research คือการนำงานวิจัยออกไปใช้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งได้รับข้อเสนอโครงการจากนักวิจัยชั้นแนวหน้าของประเทศจากหลากหลายสถาบัน ทุกโครงการได้ผ่านการพิจารณาอย่างเข้มงวดจากผู้เชี่ยวชาญและคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ยอมรับในวงการวิชาการมาเป็นเวลานาน ซึ่งเกณฑ์การคัดเลือกได้พิจารณาคุณสมบัติของหัวหน้าโครงการ โดยพิจารณาจากความสามารถทางวิชาการ ความเป็นผู้นำทีมวิจัย การมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคม และการผลิตผลงานวิจัยที่เป็นความคิดริเริ่มระดับนานาชาติ มีความเป็นเลิศวิชาการ และมีศักยภาพเชื่อมโยงไปสู่การใช้ประโยชน์ได้ ทั้งในภาคการผลิตและบริการ และ/หรือภาคสังคมโดยรวม โดยปี 2560 คณะกรรมการร่วมทุนมีมติเห็นสมควรมอบทุนดังกล่าวแก่ ศ.ดร.สุทธิชัย อัสสะบำรุงรัตน์ สังกัดภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในโครงการวิจัยเรื่อง "การประยุกต์ใช้ฐานเทคโนโลยีสำหรับการเลือกและพัฒนากระบวนการและต้นแบบที่เป็นนวัตกรรมสำหรับการผลิตอย่างยั่งยืนของเชื้อเพลิงทางเลือกบนฐานของไบโอรีไฟเนอรี" โดยจะได้รับงบประมาณสนับสนุนเป็นจำนวนเงิน 20 ล้านบาท เป็นเวลา 5 ปี"
ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ประธานกรรมการมูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ระบุว่า "โครงการทุน NSTDA Chair Professor เป็นโครงการที่มูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มีความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุน ผลงานการวิจัยที่สำคัญยิ่งจากผลการดำเนินงานของโครงการทุนที่ผ่านมา ด้วยการบริหารจัดการที่ดีของ สวทช. และเครือข่ายพันธมิตรต่างๆ ส่งผลให้การดำเนินงานโครงการฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากลุ่มเครือข่ายพันธมิตรนี้ จะยังเป็นหลักสำคัญในการดำเนินงานของโครงการทุน NSTDA Chair Professor ต่อไป และขอแสดงความยินดีแด่ ศ.ดร.สุทธิชัย อัสสะบำรุงรัตน์ ภาควิชาเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้รับทุนวิจัย NSTDA Chair Professor ในปี 25560 จากโครงการวิจัยเรื่องการพัฒนาฐานเทคโนโลยีสำหรับการเลือกและพัฒนากระบวนการผลิตยั่งยืนที่เป็นนวัตกรรมในอุตสาหกรรมเคมี ปิโตรเคมีและไบโอรีไฟเนอรี ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อการพัฒนาศักยภาพของประเทศ และหวังให้โครงการทุน NSTDA Chair Professor ที่ได้ดำเนินโครงการมาจะเป็นโครงการที่ช่วยกระตุ้นให้องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนอื่นๆ หันมาสนใจและร่วมกันสนับสนุนให้เกิดโครงการในลักษณะนี้ในหัวข้ออื่นๆ ที่จะเป็นประโยชน์กับการพัฒนาประเทศไทยต่อไป"
ด้าน ศ.ดร.สุทธิชัย อัสสะบำรุงรัตน์ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศาสตรเมธาจารย์ NSTDA Chair Professor ประจำปี 2560 กล่าวว่า "โครงการวิจัยการประยุกต์ใช้ฐานเทคโนโลยีสำหรับการเลือกและพัฒนากระบวนการและต้นแบบที่เป็นนวัตกรรมสำหรับการผลิตอย่างยั่งยืนของเชื้อเพลิงทางเลือกบนฐานของไบโอรีไฟเนอรี มีเป้าประสงค์พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อแปรรูปวัตถุดิบทางการเกษตรเป็นพลังงานทางเลือก (ไบโอดีเซล Bio hydrogenated diesel (BHD) และแก๊สไฮโดรเจน) และการออกแบบระบบในองค์รวมในการจัดการวัสดุเหลือทิ้งที่เกี่ยวข้องให้เกิดประโยชน์ โดยอาศัยหลักการรวมกระบวนการและความรู้ในการออกแบบหน่วยผลิตในระดับนำร่อง เพื่อนำวัตถุดิบทางการเกษตรและของเหลือทิ้งจากชุมชน อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ช่วยลดภาระการจัดการของเสียในชุมชน และอุตสาหกรรม พัฒนาองค์ความรู้ ศักยภาพของเทคโนโลยี และคุณภาพชีวิตของประชาชนไทย ซึ่งแนวทางดำเนินงานแบ่งได้เป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะสั้น : มุ่งพัฒนาต่อยอดกระบวนการผลิตไบโอดีเซลต้นทุนต่ำแบบลดมลภาวะที่พัฒนาในระดับห้องปฏิบัติการพร้อมออกแบบขยายเป็นต้นแบบหน่วยผลิต ระยะกลาง : มุ่งพัฒนาต่อยอดกระบวนการผลิต BHD ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเพิ่มทางเลือกในการใช้วัตถุดิบในการผลิต และระยะยาว : แสวงหาทางเลือกในการใช้วัตถุดิบเหลือทิ้งจากกระบวนการ นำมาผลิตเป็นเชื้อเพลิง/เคมีภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงอย่างเหมาะสม ทำให้ชุมชนและประเทศสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน"