นางพรนิจ ตุลย์วัฒนจิต ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายปฏิบัติการสนับสนุน ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารมุ่งพัฒนาบริการทางการเงินเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าให้ดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยได้ร่วมกับ "กลุ่มพันธมิตร R3" (R3 Consortium) ผู้พัฒนาเทคโนโลยีและซอฟท์แวร์ด้านการเงินแห่งอนาคต (Fin Tech) และ "TradeIX" ผู้พัฒนาเทคโนโลยีด้านการเงินระหว่างประเทศ (Trade Finance) เพื่อประยุกต์ Distributed Ledger Technology หรือ Blockchain มาใช้กับบริการด้านธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศแบบ Open Account ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริการและสะดวกเพราะสามารถปรับให้เข้ากับความต้องการใช้งานได้หลากหลาย และปลอดภัย
บริการนี้จะช่วยให้สถาบันการเงินสามารถพิจารณาการให้บริการทางการเงินได้ทันทีตั้งแต่ก่อนจัดส่ง และหลังจัดส่งสินค้า (Pre- and Post-shipment financing)ทั้งจะช่วยลดความเสี่ยงสำหรับผู้ซื้อและผู้ขายสินค้าจากทั่วโลก ซึ่งทำให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายสินค้า สามารถทำการค้าได้สะดวกขึ้น สามารถเข้าถึงสินเชื่อในเวลาที่ต้องการได้อย่างเหมาะสมและลดความเสี่ยงในวงจรการค้าระหว่างกัน นอกจากนี้ ระบบยังถูกออกแบบมาให้สามารถใช้งานหรือพัฒนาร่วมกับแพลตฟอร์มอื่นๆ ได้อีกด้วย
"บริการนี้พิสูจน์ให้เห็นถึงคุณประโยชน์ของเทคโนโลยี Distributed Ledger ที่นำมาปรับใช้ได้จริงในหลายกรณี อีกทั้งยังเป็นการแบ่งปันความรู้ระหว่างสถาบันการเงินของกลุ่มพันธมิตรที่ทำงานร่วมกัน โดยการพัฒนา Trade Finance นับเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในการทดสอบแนวคิดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของบริการ เนื่องจากการค้าระหว่างประเทศนั้นมีผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ซึ่งอาจไม่เคยทำธุรกิจด้วยกันมาก่อน ธนาคารจึงเชื่อมั่นว่า ความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดของกลุ่มพันธมิตร R3 จะช่วยให้ธนาคารสามารถพัฒนาบริการและผลิตภัณฑ์ และนำเสนอโซลูชั่นที่ตรงความต้องการและมีประโยชน์แก่ลูกค้าของเราได้รวดเร็วยิ่งขึ้น" นางพรนิจ กล่าว
ด้าน นายเอียน กาย กิลลาด ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ภายใต้ความร่วมมือของสมาชิก R3 ธนาคารกรุงเทพยังเป็น 1 ใน 11 ธนาคารพันธมิตรที่สามารถนำแอปพลิเคชันใหม่ ที่ R3 และ CGI พันธมิตรด้านเทคโนโลยีพัฒนาร่วมกัน เข้ามาช่วยสนับสนุนกระบวนการเกี่ยวกับการออก Letter of Credit (L/C) ให้สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดขั้นตอนและต้นทุนลง โดยสามารถเชื่อมโยงกับผู้ส่งสินค้า และผู้ให้บริการด้านขนส่ง ให้สามารถเข้าถึงรายละเอียดของการจัดส่งสินค้าได้อย่างรวดเร็ว ทุกขั้นตอน และเป็นมาตรฐานเดียวกัน แม้ว่าธุรกิจแต่ละแห่งจะมีเทคโนโลยีที่แตกต่างกันก็ตาม โดย L/Cยังถือเป็นธุรกรรมสำคัญของผลิตภัณฑ์ด้านธุรกรรมระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ ธนาคารยังได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกกับ Banking Industry Architecture Network (BIAN) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหากำไร เพื่อร่วมกันพัฒนาสถาปัตยกรรมการบริการด้านการการเงินที่ดีที่สุด โดยมีสมาชิก 4 กลุ่มร่วมกันพัฒนา ประกอบด้วย สถาบันการเงินชั้นนำ(Financial Institution) ผู้ผลิตและจำหน่ายซอฟท์แวร์ (Software venders) บริษัทผู้ให้บริการในอุตสาหกรรมธนาคาร (Service Providers of the Bank Industry) และสถาบันวิชาการ (Academic)
สำหรับกลุ่มลูกค้ารายย่อย ที่ผ่านมา ธนาคารได้ร่วมกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด (กองทุนบัวหลวง) และ FundRadar เปิดตัวแอปพลิเคชัน Bualuang Fund (BF) เพื่อเป็นอีกหนึ่งเครื่องมืออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าผู้ถือหน่วยลงทุน ให้สามารถเข้าถึงข้อมูลและทำธุรกรรมต่างๆ ได้สะดวก รวดเร็ว ทุกที่ทุกเวลา ผ่านช่องทางดิจิทัลได้ง่ายๆ โดย FundRadar เป็น 1 ในสตาร์ทอัพที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าสู่รอบสุดท้ายของ โครงการบ่มเพาะธุรกิจสตาร์ทอัพในกลุ่มเทคโนโลยีการเงิน (Fin Tech) หรือ Bangkok Bank InnoHub
นอกจากนี้ ธนาคารยังได้เร่งพัฒนาบริการด้านการโอนและชำระเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ในรูปแบบต่างๆ ที่สอดคล้องกับพฤติกรรมของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง นอกจากการทำธุรกรรมโอนเงินผ่านพร้อมเพย์แล้ว ปัจจุบันลูกค้าสามารถเลือกใช้แอพพลิเคชั่นบัวหลวง เอ็มแบงก์กิ้ง สแกน QR Code มาตรฐานที่ร้านค้าเพื่อชำระเงินได้ทันที โดยไม่ต้องใช้เงินสด และล่าสุดได้เปิดตัวบริการ "QR Code Payment on EDC" สำหรับธุรกิจร้านค้าขนาดใหญ่รับชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดผ่านเครื่อง EDC ที่เงินจะเข้าบัญชีร้านค้าโดยตรง ช่วยให้บริหารจัดการเงินสดง่าย พร้อมสรุปเป็นรายงานประจำวัน ช่วยเพิ่มช่องทางการชำระเงิน ลดต้นทุนการบริหารจัดการ เพิ่มโอกาสการแข่งขันในตลาดด้วยช่องทางการรับชำระเงินที่หลากหลาย สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย สามารถตอบโจทย์พฤติกรรมลูกค้าผู้ซื้อสินค้าที่นิยมทำธุรกรรมการเงินผ่านช่องทางโมบายแบงกิ้ง ซึ่งสอดรับกับนโยบายภาครัฐที่ต้องการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นสังคมไร้เงินสด ตามแผนพัฒนา National E-Payment