วันนี้ (7 ธันวาคม 2560) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบโล่รางวัลแก่ผู้แทนเครือข่ายระบบสุขภาพระดับอำเภอที่ผ่านการจากสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) ได้แก่ เครือข่ายระบบสุขภาพระดับอำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น เครือข่ายสุขภาพระดับอำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ และเครือข่ายสุขภาพระดับอำเภอคอนสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิ
ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกลกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ เพื่อเป็นกลไกในการพัฒนาสุขภาพในระดับอำเภอ ที่เชื่อมโยงกับเครือข่ายระบบบริการปฐมภูมิ ในปี 2561 นี้ กำหนดเป้าหมายให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอในทุกอำเภอ พร้อมทั้งจัดทำแผนดำเนินการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต การพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาของพื้นที่ โดยใช้การบริหารจัดการแบบบูรณาการ และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในอำเภอ ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการในรูปของเครือข่ายสุขภาพระดับอำเภอ และมีการพัฒนาคุณภาพและความปลอดภัยตามเกณฑ์การประเมินรับรองของสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน)
ด้านนายแพทย์กิตตินันท์ อนรรฆมณี ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) กล่าวว่า การประเมินรับรองระบบสุขภาพระดับอำเภอ สถาบันฯ ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 โดยพัฒนากระบวนการประเมินรับรองระบบสุขภาพระดับอำเภอร่วมกับอำเภอนำร่องจำนวน 24 เครือข่าย โดยมีเป้าหมายให้เครือข่ายระบบสุขภาพระดับอำเภอเกิดการเรียนรู้ด้านคุณภาพและความปลอดภัย โดยใช้เสียงสะท้อนจากการเยี่ยมสำรวจภายนอก อันจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเครือข่าย ซึ่งมีเครือข่ายชุดแรกที่ผ่านการประเมินรับรอง จำนวน 3 เครือข่าย ดังนี้ เครือข่ายระบบสุขภาพระดับอำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ที่เป็นต้นแบบของเศรษฐกิจพอเพียง การสร้าง สุขภาวะ และการบริหารจัดการในรูปแบบประชารัฐเครือข่ายสุขภาพระดับอำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นเครือข่ายที่สนองพระราชปณิธานในการจัดตั้งโรงพยาบาลสมเด็จ พระยุพราช ที่ต้องการเห็นการดูแลผู้ป่วยในถิ่นทุรกันดาร ให้ได้รับการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี โดยทั่วถึงเสมอหน้ากัน โดยมีความโดดเด่นในการดูแลผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ป่วยจิตเวช เครือข่ายสุขภาพระดับอำเภอคอนสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิ เป็นเครือข่ายที่พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยกลยุทธ์ ปัจจัย 4+1 (อาหาร ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม และการศึกษา/วัฒนธรรมท้องถิ่น) ) ในการสร้างสุข 3 ดินแดน (สุขภาพ วัฒนธรรม และ อาชีพ) ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เข้มแข็ง