นางวิภาภรณ์ ชัยรัตน์ รองผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กลุ่มบริหารความเสี่ยง ประธานในพิธีมอบรางวัลการประกวดวาดภาพ "ออมศิลป์ ใต้ร่มพระบารมี" กล่าวว่าการจัดงานในปีนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเทิด พระเกียรติและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ซึ่งได้รับเกียรติจากศิลปินแห่งชาติ และศิลปินชั้นนำของประเทศ อันได้แก่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณอิทธิพล ตั้งโฉลก ศาสตราจารย์เกียรติคุณปรีชา เถาทอง ศาสตรเมธี ดร.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศาสตราจารย์ วิโชค มุกดามณี อาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร ศาสตราจารย์เกียรติคุณพิษณุ ศุภนิมิตร ศาสตราจารย์ถาวร โกอุดมวิทย์ อาจารย์สังคม ทองมี และอาจารย์วีรเดช พนมวัน ณ อยุธยา ร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสินผลงาน ซึ่งได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา
โดยปีนี้ มีศิลปินทั่วประเทศร่วมส่งผลงานเข้าประกวดทั้งสิ้น 655 ผลงาน และมีผลงานคุณภาพที่ผ่านการคัดเลือกและตัดสินให้ได้รับรางวัลทั้งสามประเภท คือ บุคคลทั่วไป เยาวชนอายุ 14-18 ปี และเยาวชนอายุ 7-13 ปี รวม 25 ชิ้นงาน ซึ่งปีนี้ มีสิ่งพิเศษคือ ธนาคารออมสินได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานถ้วยรางวัล เพื่อมอบให้แก่ผู้ชนะการประกวดระดับยอดเยี่ยมทั้ง 3 ประเภท ถือเป็นเกียรติประวัติ เป็นขวัญและกำลังใจแก่เหล่าศิลปินอย่างสูงสุด และจะเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน สืบสานสิ่งดีงามผ่านงานศิลปะเพื่อให้เกิดความยั่งยืนเป็นสมบัติของชาติสืบไป ซึ่งธนาคารพร้อมให้การสนับสนุนงานศิลปะ เช่นเดียวกับบทบาทการพัฒนาสังคมในมิติต่างๆ
ด้านศาสตรเมธี ดร.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ กล่าวให้ความเห็นว่า เวทีประกวดออมสิน เป็นเวทีที่มีเกียรติ มีคณะกรรมการตัดสินที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิในแวดวงศิลปะ เป็นที่ยอมรับของศิลปินในการตัดสินใจส่งผลงานเข้าประกวด โดยผลงานที่ส่งเข้ามาปีนี้ มีคุณภาพที่ดีขึ้น พร้อมกับจำนวนที่มากขึ้น นอกจากนี้ เวทีของ ออมสินยังเป็นพื้นที่สร้างศิลปินในวงการศิลปะ และธนาคารออมสินมีศักยภาพที่จะสร้างศิลปินได้อีก จึงต้องขอบคุณธนาคารที่จัดกิจกรรมที่ดี ในการส่งเสริมงานศิลปะ พร้อมกับมียอดเงินรางวัลที่สูงมากด้วยเช่นกัน เพื่อเป็นแรงผลักดันให้ศิลปินมีแรงบันดาลใจในการสร้างผลงาน
สำหรับผู้คว้ารางวัลยอดเยี่ยมประเภทบุคคลทั่วไป ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 1 ล้านบาท พร้อมกับเกียรติบัตรและถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี คือ นายเทพพงษ์ หงษ์ศรีเมือง ปัจจุบันเป็นนักศึกษาระดับปริญญาโท ภาควิชาภาพพิมพ์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า ตัดสินใจส่งผลงาน ในชื่อ "ภายใต้ร่มเงาที่พ่อสร้าง" ซึ่งสร้างสรรค์ด้วยเทคนิค "จิตรกรรมแกะไม้" จากแนวคิดว่า "ร่มไม้ของพ่อที่คอยบังแดด บังฝน บังลมหนาว ให้กับปวงชน ชาวไทยได้อาศัยค้ำยันกิ่งก้านสาขาให้แผ่ร่มเงาออกไป เสมือนการสืบทอดการเดินตามรอยพระราชกรณียกิจของพ่อหลวงที่ทรงสร้างไว้ ให้ปวงประชาอยู่บนพื้นฐานของความสุขที่พอเพียง ภายใต้ร่มเงาของธรรมชาติและความโอบอ้อมของวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาจากอดีตสู่ปัจจุบัน" เข้าประกวดเพราะตนเองมีความซาบซึ้ง และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวง ซึ่งเป็นหัวข้อการประกวด บวกกับอยากทดลองผลงานในรูปแบบใหม่ฉีกออกจากที่เคยทำมา ซึ่งในกระบวนการสร้างสรรค์ชิ้นงาน ขั้นตอนการคิดจะใช้เวลาค่อนข้างนาน สำหรับความภาคภูมิใจที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ มีมากกว่ามูลค่าเงินรางวัล เพราะได้รับถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นความใฝ่ฝันมานานแล้ว ที่สำคัญคือ ได้ทำในสิ่งที่รัก และเผยแพร่ผลงานสู่สาธารณะ สำหรับในอนาคตนั้น หากจบการศึกษาปริญญาโทแล้ว ตั้งใจจะเป็นอาจารย์สอนศิลปะ เหมือนกับที่ตนเองเคยได้รับโอกาสจากอาจารย์ทุกท่านที่เคยให้ตนมา
ส่วนรางวัลยอดเยี่ยมประเภทเยาวชนอายุ 14-18 ปี เป็นของนางสาวปิยาภรณ์ จันทร์ไทรรอด นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 4 แผนกศิลป์ โรงเรียนศรีสงครามวิทยา จ.เลย ได้รับเงินรางวัล 1 แสนบาท พร้อมกับเกียรติบัตรและถ้วยรางวัลพระราชทานฯ ซึ่งสร้างสรรค์ผลงานชื่อ "บารมีของพ่อ" ด้วยเทคนิค "ภาพพิมพ์ แกะไม้ (วู้ดคัด) ผสมการดีดสีอะคริลิค" จากแนวคิด "สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงสอนให้ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้รู้จักการออม และพระองค์ได้สานต่อการออมของสมเด็จย่าฯ ให้ประชาชนได้รู้ในการบริหารเงิน การเก็บเงินไว้ใช้ในวันข้างหน้า ดั่งพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช "...การใช้จ่ายอย่างประหยัดนั้นจะเป็นหลักประกันความสมบูรณ์พูนสุขของผู้ประหยัดเองและครอบครัว ช่วยป้องกันความขาดแคลนในวันข้างหน้า การประหยัดดังกล่าวนี้จะมีผลดีไม่เฉพาะแก่ผู้ที่ประหยัดเท่านั้น ยังเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติด้วย" โดย นส.ปิยาภรณ์กล่าวว่า รู้สึกดีใจมากที่ผลงานได้รับการตัดสินให้ได้รับรางวัล สำหรับเงินรางวัลที่ได้รับจะนำไปเป็นทุนในการศึกษาต่อมหาวิทยาลัย ส่วนตัวสนใจเรียนในสายศิลปะ ซึ่งที่โรงเรียนให้การสนับสนุน มีอุปกรณ์เครื่องมือ และมีคุณครูคอยให้คำแนะนำในการสร้างสรรค์ผลงาน ซึ่งเวทีประกวดครั้งนี้ ตนเองได้ส่งผลงานเข้ามาพร้อมๆ กับรุ่นพี่มัธยมศึกษาปีที่ 6 อีก 3 คน และต่างก็ได้รางวัลเช่นกันในประเภทเยาวชนอายุ 14-18 ปี (รางวัลอันดับที่ 2 และรางวัลชมเชยอีก 2 รางวัล)
ด้านอาจารย์กิตติพงษ์ ธรรมวรรณ ซึ่งนำนักเรียนเข้าประกวดในครั้งนี้ เปิดเผยว่า ต้องขอชื่นชมธนาคารออมสินที่จัดกิจกรรมดีๆ เช่นนี้ ทำให้เด็กๆ โดยเฉพาะในต่างจังหวัดได้มีเวทีสร้างประสบการณ์ในเส้นทางศิลปะ ซึ่งโรงเรียนให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ให้เด็กได้พัฒนาในสิ่งที่ตนเองสนใจ และสำหรับนางสาวปิยาภรณ์ จันทร์ไทรรอด ที่ส่งผลงานเข้าประกวดครั้งนี้ ก็นับเป็นการสร้างชื่อให้แก่โรงเรียนเช่นเดียวกับรุ่นพี่ อีกสามคน โดยมูลค่ารางวัลจากเวทีนี้ ก็นับว่าสูงมาก และสูงที่สุดเท่าที่โรงเรียนเคยส่งเด็กเข้าประกวดและได้รับรางวัล ถือเป็นการสร้างเกียรติประวัติแก่ตัวเด็กเอง และแก่โรงเรียนด้วย ซึ่งกลับไปจะต้องมีกิจกรรมแสดงความยินดีกับนักเรียนหน้าเสาธงให้เป็นตัวอย่างแก่เพื่อนนักเรียนด้วยกันต่อไป
สำหรับประเภทเยาวชนอายุ 7-13 ปี ในปีนี้ผู้ที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม คือ เด็กชายรพีวิชญ์ จิรมิตรมงคล หรือ น้องภูผา นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนดรุณาราชบุรี จ.ราชบุรี ศิลปินน้อยที่เคยส่งผลงานเข้าประกวดกับธนาคารออมสินเมื่อปีที่แล้ว โดยในปีนี้ส่งผลงานภายใต้ชื่อ "สมมติโพธิสัตว์ราชา" ใช้เทคนิคการวาดภาพด้วย สีน้ำ สีอะคริลิก สีโปสเตอร์ ปากกาดำ พู่กันตัดเส้น และปากกากากเพชร ชูแนวคิดว่า "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นเหมือนพระโพธิสัตว์เดินดินที่ช่วยเหลือประชาชนทั่วแผ่นดินไทย เปรียบเสมือนเมื่อรอยพระบาทได้ปรากฎ ณ ที่แห่งใด ที่แห่งนั้นจะกลายเป็นแผ่นดินทองที่อุดมสมบูรณ์ในทันที" เด็กชายรพีวิชญ์ ได้กล่าวด้วยความยินดี ว่าตนอยากให้คนเห็นผลงานเยอะๆ จึงได้ส่ง เข้าประกวด อยากให้ผลงานได้แพร่กระจายไปในหลายๆ ที่ ครั้งนี้ภูมิใจมากที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม กิจกรรมนี้ของออมสินก็ดีมาก เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้พี่ๆ น้องๆ ได้นำผลงานมาร่วมแสดง ผมก็จะวาดรูปลายไทยแบบนี้ไปตลอด และจะเพิ่มเติมในเรื่องของสี ภาพเหมือนควบคู่ไปด้วยครับ
ทั้งนี้ ธนาคารออมสินมีนโนบายจะจัดการประกวดวาดอย่างต่อเนื่องในปีต่อๆ ไป โดยผู้สนใจสามารถติดตามความคืบหน้าหรือกิจกรรมอื่นๆ ของธนาคารฯได้ทางเว็บไซต์ www.gsb.or.thและ www.gsbgen.com