ผลกระทบของนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทในประเทศไทย: โอกาสหรืออุปสรรค

อังคาร ๑๒ ธันวาคม ๒๐๑๗ ๑๒:๒๓
เขียนโดย

ดร.สหนนท์ ตั้งเบญจสิริกุล (ผู้อำนวยการ)

ดร.วีระชัย วิวัฒน์ชาญกิจ (ที่ปรึกษาอาวุโส)

พีรณัฐ พรหมะวีระ (ที่ปรึกษา)

ในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ที่ผ่านมา การถือกำเนิดขึ้นของนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำเนินธุรกิจเป็นอย่างมาก และประเด็นนี้ได้ถูกพูดถึงในวงกว้างว่านวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ จะยิ่งเข้ามามีอิทธิพลในการดำเนินธุรกิจมากขึ้นอีกในอนาคต ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวของภาคธุรกิจเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในอนาคตอันใกล้นี้ อีกปัจจัยที่สนับสนุนให้ เทคโนโลยีแนวใหม่เข้ามามีอิทธิพลเป็นอย่างมาก คือ ทัศนคติของผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่ให้ความสำคัญในเรื่องของแบรนด์ (Brand) ไปเป็นความสะดวกสบายและประสิทธิภาพที่จะได้รับจากสินค้าและบริการ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เจ้าของสินค้าและบริการหน้าใหม่ เล็งเห็นถึงโอกาสทางธุรกิจที่จะเข้ามาสนองความต้องการของผู้บริโภคที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป และแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดจากเจ้าของสินค้าและบริการรายเก่าไปอย่างมีนัยสำคัญ อาทิ Uber เป็นหนึ่งตัวอย่างในการแสดงให้เห็นถึงการที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับความสะดวกสบายและประสิทธิภาพที่มากกว่าการใช้บริการแท็กซี่แบบดั้งเดิม เพราะเพียงแค่การใช้แอพพลิเคชั่น (Application) ก็เข้าถึงบริการของ Uber ได้อย่างง่ายดาย ด้วยสาเหตุนี้ Uber จึงถือได้ว่าเข้ามามีบทบาทและส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อธุรกิจ แท็กซี่ในหลายๆพื้นที่ทั่วโลก

ความจริงที่ว่านวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ถูกยกให้เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากในหมู่ผู้ประกอบการ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ สาเหตุหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือ ผู้ประกอบการที่ปฏิเสธหรือช้าเกินไปที่จะปรับตัวเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการ ต้องดิ้นรนเป็นอย่างมากที่จะอยู่รอดในตลาดที่มีสภาวะการแข่งขันสูงขึ้น และก็มีหลายกรณีศึกษาให้เห็นว่าผู้ประกอบการเหล่านี้ไม่สามารถรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด หรือแม้กระทั่งต้องหยุดกิจการไปในที่สุด เช่น กรณีของ Nokia เป็นตัวอย่างที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก เพราะ Nokia เคยเป็นเจ้าตลาดของการผลิตและจัดจำหน่ายโทรศัพท์มือถือที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่เมื่อความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป และ Nokia ไม่สามารถปรับตัวได้อย่างทันท่วงที ส่งผลให้บริษัทต้องปรับรูปแบบการทำธุรกิจครั้งใหญ่มาจนถึงทุกวันนี้ ด้วยสาเหตุนี้ ดีลอยท์ (ประเทศไทย) จึงได้จัดทำแบบสำรวจทางธุรกิจเกี่ยวกับเรื่องผลกระทบของนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อให้เห็นทัศนคติของผู้ประกอบการและองค์กรมากยิ่งขึ้น

แบบสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะเข้าใจถึงความตื่นตัวของผู้ประกอบการ ความสามารถในการปรับตัว และทัศนคติทั่วไปที่มีต่อนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ในแบบสำรวจครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมในการตอบมากกว่า 120 คน โดยผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดถูกคัดเลือกมาจากหลายภาคอุตสาหกรรม ทั้งบริษัทไทยและบริษัทข้ามชาติ ผลจากการวิเคราะห์พบว่า ร้อยละ 76 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดมีความตื่นตัวต่อนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามามีบทบาทต่อธุรกิจในปัจจุบันนี้ ร้อยละ 69 เชื่อว่านวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ กำลังส่งผลกระทบต่อธุรกิจในปัจจุบัน และร้อยละ 73 คิดว่าผลกระทบจากนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ จะส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญในอีก 3 ถึง 5 ปีข้างหน้า ผลกระทบทางธุรกิจที่ผู้ตอบแบบสอบถามเล็งเห็นนั้นมีทั้งเชิงบวกและเชิงลบ โดยร้อยละ 71 มีความเชื่อมั่นว่าธุรกิจของพวกเขามีความคล่องตัวมากพอที่จะปรับตัวรับกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ

ผลจากการสำรวจในภาพรวม พบว่า Mobile Internet, Cloud Technology, Internet of Things (IoT), Big Data และ Advanced Robotics เป็นนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ผู้ตอบส่วนใหญ่เห็นว่าจะเข้ามามีบทบาทและส่งผลกระทบต่อธุรกิจมากที่สุด อย่างไรก็ตาม แต่ละภาคอุตสาหกรรมก็มีมุมมองที่แตกต่างกันออกไป เพราะเทคโนโลยีแต่ละชนิดให้ประโยชน์ที่แตกต่างกัน ดังนั้น ลักษณะเฉพาะของแต่ละธุรกิจและอุตสาหกรรมจะส่งผลต่อการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ มาปรับใช้ ธุรกิจบริการจะใช้ลูกค้าเป็นศูนย์กลางในการกำหนดกลยุทธ์ เพื่อตอบสนองความต้องการและสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้าได้ดีขึ้น ในขณะที่ธุรกิจการผลิตจะมุ่งเน้นไปที่การยกระดับคุณภาพของสินค้าและการบริหารต้นทุนการผลิต ในทำนองเดียวกัน ความคล่องตัวในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ มีความแตกต่างกันไปตามลักษณะของธุรกิจ จากผลการสำรวจบ่งชี้ว่า ธุรกิจบริการมีความคล่องตัวในการปรับตัวมากกว่าธุรกิจการผลิต ในขณะที่ธุรกิจการผลิตเล็งเห็นประโยชน์ในการปรับใช้เทคโนโลยีแนวใหม่มากกว่าธุรกิจบริการ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ธุรกิจการผลิตต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ มาปรับใช้ รวมถึงระยะเวลาในการดำเนินการที่ค่อนข้างยาวนานกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับธุรกิจบริการ ซึ่งนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ จะเข้ามาแทรกแซงธุรกิจได้ง่ายกว่า ระยะเวลาสั้นกว่า และมีต้นทุนที่ถูกกว่า

ผลลัพธ์จากการสำรวจครั้งนี้ บ่งชี้อีกว่าธุรกิจส่วนใหญ่มองว่าการเพิ่มผลผลิต การลดทรัพยากรในการทำงานงานประจำต่างๆ และความแม่นยำในการจัดเก็บข้อมูล เป็นประโยชน์หลัก 3 ประการที่ธุรกิจจะได้รับจากการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ในทางกลับกัน ภาวะการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น การถือกำเนิดคู่แข่งรายใหม่ๆ และการปรับโครงสร้างของห่วงโซ่อุปทาน เป็นอุปสรรคใหญ่ 3 ประการที่เกิดจากนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่เพียงแต่ลักษณะของธุรกิจเท่านั้นที่มีอิทธิพลต่อมุมมองของผู้ประกอบการ แต่ประเภทขององค์กรเองก็มีผลเช่นกัน โดย กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่มีธุรกิจหลากหลาย (Conglomerate) มีความคล่องตัวในการรับนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ต่ำกว่า บริษัทข้ามชาติ และบริษัทท้องถิ่น สาเหตุที่เป็นไปได้น่าจะมาจากความหลากหลายของธุรกิจในเครือ ซึ่งอาจทำให้เกิดความยากลำบากในการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในแต่ละธุรกิจที่มีความแตกต่างกัน (Unrelated Business) เพราะองค์กรจะมองถึงประโยชน์ร่วมกัน (Synergy) เมื่อทำการตัดสินใจที่จะลงทุนเพื่อนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ นอกจากนี้แล้ว ขนาดขององค์กรเองก็ส่งผลต่อการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ ซึ่งผลจากแบบสำรวจบ่งชี้ว่าบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก (SME) มีความตื่นตัวต่ำกว่าบริษัทขนาดใหญ่ (Large-sized company) ทั้งที่ในหลายอุตสาหกรรม บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก และ กลุ่มสตาร์ทอัพ มีบทบาทในการคิดค้นและนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามานำเสนอสู่ตลาดเพื่อแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดจากบริษัทขนาดใหญ่ซึ่งเป็นเจ้าตลาดเดิม อย่างไรก็ตาม แม้ว่าองค์กรขนาดเล็กเหล่านี้จะตื่นตัวน้อยกว่า แต่ก็มีความคล่องตัวในการปรับตัวมากกว่าองค์กรขนาดใหญ่ เนื่องจากความคล่องตัวในการตัดสินใจนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้มีมากกว่าองค์กรขนาดใหญ่ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ Facebook ที่เคยเป็นบริษัท Start-up ขนาดเล็กที่เข้ามาแทรกแซงธุรกิจของ Social Media หลายบริษัทซึ่งเคยเป็นเจ้าตลาดอยู่ในขณะนั้น ด้วยบริการที่สะดวก หลากหลาย และใช้งานง่าย เพื่อดึงดูดลูกค้าจากบริษัทเหล่านั้นเข้ามาใช้บริการของ Facebook ได้เป็นจำนวนมากจนกลายเป็นผู้นำตลาดในปัจจุบัน

ผลลัพธ์ยังบ่งว่า ธุรกิจสื่อสารและโทรคมนาคมมีความตื่นตัวมากที่สุดในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ มาปรับใช้ เนื่องจากภาวะการแข่งขันที่สูง และโอกาสที่จะพัฒนาธุรกิจต่อยอดจากบริการสื่อสารเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ส่งผลให้ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

ในภาพรวม การสำรวจครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่า นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้เข้ามามีบทบามสำคัญอย่างมากต่อการดำเนินธุรกิจในหลายภาคอุตสาหกรรม โดย ขีดความสามารถในการปรับตัวรับนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ จะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจาก นวัตกรรมและเทคโนโลยีเหล่านี้ จะนำมาซึ่งผลกระทบเชิงบวกและเชิงลบต่อการดำเนินธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากผลการสำรวจความคิดเห็นครั้งนี้ ดีลอยท์พบว่า นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ผู้ประกอบการจากหลายอุตสาหกรรมมองว่ามีบทบาทสำคัญที่สุดต่อการดำเนินธุรกิจ ได้แก่ Cloud Technology, Internet of Things (IoT) และ Big Data ซึ่งจะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีเหล่านี้เข้ามามีส่วนช่วยในเรื่องของการจัดเก็บข้อมูล การเรียกดูข้อมูลแบบ Real time และการสื่อสารที่รวดเร็ว ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อการตัดสินใจทางธุรกิจ และการที่องค์กรมีการใช้ข้อมูลที่ ถูกต้อง น่าเชื่อถือ และทันกาล จะช่วยให้ผู้บริหารตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกเหนือจากนั้นความเร็วในการเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ก็ถือเป็นสิ่งที่สำคัญเนื่องจากภาวะการแข่งขันในตลาดที่เพิ่มสูงขึ้น นี่เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ Mobile Internet และ Internet of Things (IoT) เข้ามาเป็นปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจในยุคปัจจุบันนี้ ดีลอยท์เชื่อมั่นว่าประสิทธิผลของการปรับใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ จะเพิ่มขึ้น หากองค์กรเข้าใจถึงปัจจัยที่มีความสำคัญต่อธุรกิจ และสามารถใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาจัดการกับปัจจัยเหล่านั้นเพื่อที่จะให้องค์กรสามารถแข่งขันและเติบโตต่อไปได้ในภาวะของตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วขึ้น

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version