นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน พร้อมด้วย นายประภัสร์ ภู่เจริญ นายกเทศมนตรีเมืองลำพูน และ นางสาวสลิลลา สีหพันธุ์ รองประธานกรรมการฝ่ายกิจการบรรษัท เทสโก้ โลตัส ร่วมแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนพร้อมเดินรณรงค์ให้ประชานและพ่อค้าแม่ค้าในตลาดสดหนองดอก จังหวัดลำพูน รู้และเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการคัดแยกขยะ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา
โดยผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน กล่าวว่า จากที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้มีการประกวดเรื่องความสะอาดปลอดขยะในท้องที่และพื้นที่ที่ได้รับการดูแลสุขลักษณะอย่างดีจนได้รับรางวัลมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเทศบาลตำบลอุโมงค์ เทศบาลป่าสัก เทศบาลแม่แรม เป็นต้น โดยกระทั่งนายกรัฐมนตรีประกาศให้ปี2559ประเทศไทยเป็นเมืองที่ปลอดขยะ ซึ่งจังหวัดลำพูนได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 เนื่องจากลำพูนเราทำเรื่องเกี่ยวกัยขยะมาอย่างยาวนานแล้ว มีนโยบายหลักๆของจังหวัดคือจังหวัดลำพูนปลอดขยะเปียก ขยะเปียกในจังหวัดจะต้องไม่มี ทุกๆบ้านจะต้องบริหารจัดการเรื่องการกำจัดขยะเปียกโดยนำไปใส่ในกล่องขยะเปียกที่ทางเทศบาลได้เตรียมไว้จนกลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ดังนั้นจังหวัดลำพูนจึงถูกแต่งตั้งให้เป็นจังหวัดที่มีความสะอาดเป็นที่ 1 ของประเทศไทย
"ก็เป็นสิ่งที่ดีที่ทางเทสโก้ โลตัส ได้มารณรงค์ที่จังหวัดลำพูนเรื่องของต้นแบบจังหวัดปลอดขยะอาหาร โดยทางจังหวัดลำพูนก็จะดำเนินการในเรื่องขยะนี้ให้ยั่งยืนต่อไป โดยจะขยายไปทุกๆพื้นที่ เบื้องต้นเราทำในเขตเทศบาลเมือง ซึ่งจังหวัดลำพูนเรามีถึง 8 อำเภอ เราจะขยายผลในเรื่องการจัดการขยะไปทุกๆที่ให้มีความยั่งยืนต่อไป" นายอรรษิษฐ์ กล่าว.
ขณะที่นายประภัสร์ ภู่เจริญ นายกเทศมนตรีเมืองลำพูน กล่าวเสริมว่า ในส่วนของเทศบาลเมืองลำพูนเรารณรงค์ในเรื่องของการแยกขยะและลดปริมาณขยะโดยเทศบาลจะเป็นต้นแบบก่อนในการที่จะอบรมพี่น้องประชาชนไม่ว่าจะในโรงเรียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดสดถึงเรื่องการให้ความสำคัญกับขยะ เป็นต้น
ส่วนทางด้านนางสาวสลิลลา สีหพันธุ์ รองประธานกรรมการฝ่ายกิจการบรรษัท เทสโก้ โลตัส กล่าวว่า "เทสโก้ โลตัส ได้ประกาศเจตนารมณ์เป็นผู้นำในการลดขยะจากอาหารเมื่อเดือนกรกฎาคม 2560 โดยได้ให้คำมั่นว่าภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 จะไม่มีการทิ้งอาหารที่ยังรับประทานได้จากไฮเปอร์มาร์เก็ตทั้ง 24 สาขาในกรุงเทพมหานคร โดยจะบริจาคอาหารที่จำหน่ายไม่หมดในแต่ละวันให้กับมูลนิธิและองค์กรการกุศลเพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับผู้ยากไร้ในชุมชนต่างๆ ซึ่งเราสามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ก่อนกำหนด จนถึงวันนี้เทสโก้ โลตัส ได้บริจาคอาหารที่จำหน่ายไม่หมดให้กับผู้ยากไร้แล้วรวมกว่า 1,050,000 มื้อ"
"นอกจากการบริจาคอาหารที่จำหน่ายไม่หมด และการพยายามลดปริมาณขยะจากอาหารภายในการดำเนินธุรกิจของเราเองแล้ว เทสโก้ โลตัส ยังเล็งเห็นถึงความสำคัญของการร่วมมือและสนับสนุนชุมชนและองค์กรอื่นๆ ให้สามารถบริหารจัดการขยะอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อช่วยลดปริมาณขยะจากอาหารในประเทศ จึงเป็นที่มาของการร่วมมือกับเทศบาลเมืองลำพูนภายใต้กรอบการทำงานแบบประชารัฐ เพื่อผลักดัน "ลำพูนโมเดล" ให้เป็นต้นแบบของจังหวัดปลอดขยะอาหาร ซึ่งทางจังหวัดลำพูนซึ่งเป็นจังหวัดปลอดขยะเปียกแห่งแรกของประเทศไทย มีจุดมุ่งหมายและอุดมการณ์เดียวกันกับเทสโก้ โลตัส จึงทำให้เกิดการร่วมมือกันครั้งนี้"
ปัจจุบัน เทสโก้ โลตัส มีร้านค้าในรูปแบบตลาด 2 แห่งในจังหวัดลำพูน ซึ่งทั้งสองสาขาได้เริ่มบริจาคอาหารที่จำหน่ายไม่หมดในแต่ละวันให้กับเทศบาลเพื่อนำไปเป็นอาหารปลาในโครงการเศรษฐกิจพอเพียง 102 ไร่ นอกจากนั้น ยังได้มอบถังขยะเพื่อสนับสนุนการคัดแยกเศษผักและผลไม้อย่างเป็นระบบระเบียบให้กับตลาดสด 4 แห่ง ซึ่งมีปริมาณขยะจากอาหารเฉลี่ยวันละ 2,000 กิโลกรัม และถังขยะสำหรับแยกเศษอาหารให้กับ 11 โรงเรียนในเขตเทศบาล เพื่อรณรงค์ให้นักเรียนมีจิตสำนึกในการแยกขยะอย่างถูกต้อง
เทสโก้ โลตัส ได้ดำเนินโครงการลดขยะอาหารภายใต้กลยุทธ์ Farm to Fork ซึ่งเป็นการลดปริมาณขยะจากอาหารภายในธุรกิจของเราเองตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ นำมาซึ่งประโยชน์กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริงได้ กล่าวคือ
เกษตรกร มีการวางแผนการเพาะปลูกตามความต้องการของตลาด ทำให้ไม่มีสินค้าเกษตรล้นตลาดเหลือทิ้ง อีกทั้งยัง ช่วยลดปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ในขณะที่ลูกค้า ได้รับสินค้าที่มีคุณภาพสูงในราคาประหยัด การบริหารจัดการตลอด supply chain ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นช่วยให้อาหารคงความสดได้นานขึ้น ต้นทุนต่ำลง ทำให้ราคาสินค้าที่ลูกค้าจ่ายมีราคาประหยัด ด้านธุรกิจ การลดปริมาณขยะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของธุรกิจ และสิ่งแวดล้อม ปัญหาขยะจากอาหารเป็นปัญหายิ่งที่นอกจากจะสร้างมลภาวะด้านกลิ่นและความสกปรกแล้ว ยังมีผลกระทบทำให้เกิดโลกร้อนจากก๊าซเรือนกระจกที่กองขยะปล่อยขึ้นไปสู่ชั้นบรรยากาศ
สำหรับประเภทของอาหารที่เทสโก้ โลตัส ได้นำไปบริจาค ประกอบด้วยผัก ผลไม้ ที่จำหน่ายไม่หมดในแต่ละวัน โดยส่วนที่ยังสามารถรับประทานได้จะถูกนำไปบริจาคให้ผู้ยากไร้ และส่วนที่ไม่สามารถรับประทานได้แล้วจะถูกนำไปทำปุ๋ยอินทรีย์ ภายใต้การร่วมงานกับองค์กรต่างๆ ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ โดยเฉลี่ยปริมาณของผักและผลไม้ที่บริจาคจากสาขาไฮเปอร์มาร์เก็ต มีปริมาณตั้งแต่ 20-50 กิโลกรัมต่อสาขา ต่อวัน สินค้าที่มีชำรุดหรือมีตำหนิแต่ไม่กระทบต่อคุณภาพสินค้าด้านใน เช่น ข้าวสารแตกแพ็ค สินค้าที่ยกเลิกการขายแล้ว และสินค้าที่มีอายุเหลือไม่ถึง 2 สัปดาห์ก่อนวันหมดอายุ แต่ยังรับประทานได้
"แผนงานของเราในปี 2561 จะเริ่มขยายโครงการกินได้ไม่ทิ้งกันไปสู่สาขาต่างจังหวัดโดยเริ่มบริจาคอาหารที่จำหน่ายไม่หมดจากไฮเปอร์มาร์เก็ตในต่างจังหวัด นอกจากนั้น เทสโก้ โลตัส จะเริ่มทำการวัดข้อมูลและปริมาณขยะอาหารภายในการดำเนินธุรกิจของเรา จากทั้งในสาขาและศูนย์กระจายสินค้าทุกแห่ง ตามนโยบายของเทสโก้ กรุ๊ป ที่ได้เริ่มเปิดเผยข้อมูลขยะจากอาหารในธุรกิจของเทสโก้ กรุ๊ป ทุกประเทศแล้ว ส่วนนอกเหนือไปจากธุรกิจของเรา เทสโก้ โลตัส จะร่วมมือกับกับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ต่อไป เพื่อสร้างการรับรู้และตระหนักถึงปัญหาและลดปริมาณขยะอาหารในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม" นางสาวสลิลลา กล่าวสรุป