ดร. สุทธิโสพรรณ ช่วยวงศ์ญาติ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สลิงชอท กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยว่า "องค์กรธุรกิจส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการนำพาองค์กรสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน ปัจจุบันธุรกิจการพัฒนาผู้นำและองค์กร มีความท้าทายมากขึ้น เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสำคัญหลายเรื่อง อาทิ การเปิดตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน พนักงานรุ่นเจเนอเรชั่น ซี (Generation Z) เข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น การนำเทคโนโลยีมาใช้ในองค์กร หรือแทนที่คนมากขึ้น ส่งผลให้บุคลากรและวัฒนธรรมขององค์กรจำต้องมีการปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ดังกล่าว ดังนั้น ธุรกิจที่ปรึกษาและพัฒนาศักยภาพผู้นำและองค์กรจึงเป็นธุรกิจที่ตอบโจทย์และเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก โดยรูปแบบการแข่งขันในตลาด ผู้ใช้บริการยังคงให้ความสำคัญต่อความน่าเชื่อถือของบริษัทที่ปรึกษา และผลงานที่สร้างความแตกต่างได้จริง จุดนี้จึงเป็นความท้าทายของ สลิงชอท กรุ๊ป ในการสร้างโซลูชั่นให้ตรงกับความต้องการขององค์กรลูกค้า"
"สลิงชอท กรุ๊ป บริษัทที่ปรึกษาด้านการพัฒนาผู้นำและองค์กร อย่างยาวนานกว่า 12 ปี มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาผู้นำและองค์กรกว่า 300 องค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอินโดจีน มาเลเซียและสิงคโปร์ ปัจจุบันให้บริการครอบคลุม 3 ด้านหลัก ได้แก่ (1) Training – การฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพพนักงานที่เป็นผู้นำองค์กรในระดับต่าง ๆ (2) Leadership and Organization Development Consulting – ให้คำปรึกษาเพื่อการพัฒนาผู้นำและองค์กร และ (3) Executive Coaching – การโค้ชผู้บริหาร ล่าสุด สลิงชอท กรุ๊ป เล็งเห็นโอกาสในการพัฒนาองค์กรยั่งยืนอย่างแท้จริง โดยเชื่อว่าองค์กรจำเป็นต้องมีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลจึงจะสามารถแก้ไขปัญหาและพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืนได้ สลิงชอท กรุ๊ป จึงวางแผนรุกตลาดการพัฒนาบุคลากรและองค์กร เปิดบริการใหม่ Executive Mentoring หรือ ธุรกิจ "พี่เลี้ยงผู้บริหาร" แห่งแรกในประเทศไทย"
"จากการศึกษาวิจัย CEO ระดับโลก กว่า 45 ราย เห็นด้วยกับการนำ "พี่เลี้ยง" หรือ "เมนเทอร์" (Mentor) ที่มีประสบการณ์ ความรู้ความสามารถ และที่สำคัญเคยประสบความสำเร็จและอยู่ในจุดหรือตำแหน่งหรือธุรกิจที่ใกล้เคียงกันนี้ เพื่อคอยให้คำแนะนำ ซึ่งจะส่งผลต่อภาพความสำเร็จและการเติบโตก้าวหน้าขององค์กรในอนาคตได้ จากสถิติตัวเลขพบว่า ผู้นำ 71% ทำให้ผลประกอบการองค์กรดีขึ้น 69% มีการตัดสินใจที่ดีขึ้น 76% สามารถตอบสนองได้ตรงกับความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้มากขึ้น และ 84% ของซีอีโอกลุ่มนี้ได้ให้เครดิตกับพี่เลี้ยงว่าช่วยให้สามารถหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดและสามารถทำหน้าที่ของซีอีโอได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย ตัวอย่างผู้นำระดับโลกที่ประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงโด่งดัง อาทิ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก มี สตีฟ จอบส์ เป็นพี่เลี้ยงในช่วงที่เริ่มก่อตั้ง Facebook ขณะที่ บิล เกตส์ มี วอร์เร็น บัฟเฟตต์ เป็นที่ปรึกษาและเพื่อนคู่คิดในการทำธุรกิจไมโครซอฟท์"
"นอกจากนี้ สำหรับเทรนด์ของการพัฒนาบุคลากร และองค์กรในปี 2561 ที่ สลิงชอท กรุ๊ป ได้ทำการศึกษาและวิจัยจากทั่วโลกจะพบว่า "ดิจิทัล-เจนเนอเรชั่น" ยังคงเป็นปัจจัยที่มีบทบาทสำคัญที่ผู้นำต้องเผชิญอย่างต่อเนื่องถึงปี 2563 ด้านดิจิทัล องค์กรจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วตามกระแสโลกดิจิตอล 4.0 การนำเอาเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์เข้ามาทำงานแทนที่มนุษย์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นความท้าท้ายของผู้นำองค์กรที่ต้องปรับตัวใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและเพิ่มศักยภาพของบุคลากร เพราะไม่ว่าเทคโนโลยีจะก้าวหน้าเพียงไร หากบุคลากรไม่มีทักษะหรือความรู้ในการใช้งาน เทคโนโลยีก็คงไร้ประโยชน์เช่นกัน ด้านเจนเนอเรชั่น กลุ่มเจน Z คือกลุ่มคนที่เกิดหลังปี พ.ศ. 2540 ซึ่งเติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีต่าง ๆ และเรียนรู้ได้รวดเร็ว จะเข้ามาร่วมงานกับองค์กรต่าง ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะในปีหน้านี้จะเป็นปีแรกที่กลุ่ม Gen Z ก้าวเข้าสู่องค์กรอย่างเป็นทางการและถือเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญที่บางองค์กรจะมีบุคลากรครบทั้ง 5 เจนเนอเรชั่น (Traditionalist / Baby Boomers / Gen X / Gen Y / Gen Z) กล่าวสรุปคือ ผู้นำองค์กรต้องเข้าใจและสามารถเชื่อมต่อการทำงานระหว่างคนเจนเนอเรชั่นเดิมและเจนเนอเรชั่นใหม่ได้ ดังนั้น บทบาทของเมนเทอร์จึงจำเป็นอย่างมากสำหรับผู้นำยุคดิจิตอลที่จะได้ใช้ความรู้และประสบการณ์ของเมนเทอร์ควบคู่ไปกับการดึงความคิดสร้างสรรค์จากคนรุ่นใหม่" ดร. สุทธิโสพรรณ กล่าวเพิ่มเติม