นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยหลังการพบปะพูดคุยกับตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยว่า ขอชื่นชมในแนวทางที่สมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ ได้มานำเสนอในวันนี้ เป็นแนวทางที่จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันที่ดีกับเกษตรกรพี่น้องชาวสวนยางรายย่อยด้วยแนวทางปฏิรูปที่นำเสนอ ได้แก่ ปฏิรูปเกษตรกรชาวสวนยาง เน้นพึ่งพาตนเอง อยู่แบบพอเพียง และต้องลดการขอความช่วยเหลือจากรัฐ การปฏิรูปสวนยาง ให้เปลี่ยนการทำสวนยางแบบเชิงเดี่ยวเป็นการทำสวนยางแบบยั่งยืน โดยชาวสวนยางรายย่อยไม่จำเป็นต้องปลูกยางอย่างเพียงอย่างเดียว ให้ลดจำนวนต้นยางต่อ 1 ไร่ และสร้างแรงจูงใจในการปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน จะสามารถจำกัดจำนวนต้นยางและปริมาณน้ำยางในตลาดได้ ซึ่งขอให้ กยท. มีการจ่ายเงินเพื่อสร้างแรงจูงใจเพิ่มเติม รวมถึง การปฏิรูปการผลิตและการแปรรูป เป็นแนวความคิดที่ตรงกับนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือ พี่น้องเกษตรกรรายย่อยเหล่านี้ได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มอาชีพ สู่การพัฒนากลุ่มวิสาหกิจชุมชน หรือ สหกรณ์ชาวสวนยาง เพื่อจะได้ทำหน้าที่ในการรวบรวมน้ำยาง รวบรวมยาง และนำมาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม หากมีขีดความสามารถเพิ่มขึ้นแล้วจะสามารถทำการตลาดต่อไป เพราะฉะนั้น พี่น้องเกษตรกรรายย่อยเหล่านี้ ต้องการการสนับสนุน จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทรวง จะสามารถให้การสนับสนุนได้ เพื่อช่วยเหลือชาวสวนยาง ยกระดับรายได้ และคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวสวนยาง
นอกจากนี้ ทางตัวแทนยังเสนอให้มีเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยหรือชาวสวนยางชายขอบได้มีส่วนร่วมในคณะทำงานเพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาตั้งแต่การวิจัย การบริหารกองทุนตามมาตรา 49 (5) เพื่อเป็นสวัสดิการให้กับเกษตรกรรายย่อย ในรูปแบบเดียวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คือเป็นการสมทบร่วมกันระหว่างรัฐและเกษตรกร โดยมีการตั้งคณะกรรมการที่มีเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยเข้ามาร่วมบริหารเงินกองทุนนี้ จนสู่การมีส่วนร่วมในระดับนโยบาย คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.)
ด้านนายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กยท. มีความยินดีอย่างยิ่งที่เกษตรกรชาวสวนยาง เห็นความสำคัญและพร้อมนำนโยบายภาครัฐสู่การปฏิบัติจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การหันมาพึ่งพาตนเอง อยู่แบบพอเพียง โดยเปลี่ยนจากการทำสวนยางเชิงเดี่ยวให้เป็นการทำสวนยางอย่างยั่งยืน ด้วยการปลูกยางแบบผสมผสาน ซึ่ง กยท. มีการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรชาวสวนยางที่ต้องการโค่นยางที่เสื่อมสภาพ หันมาปลูกแทนผสมผสาน มีทุนสนับสนุนให้ไร่ละ 16,000 บาท ทั้งนี้ ในปี 2560 มีชาวสวนยางโค่นยางแล้วปลูกแทน จำนวน 42,036 ราย พื้นที่ 422,728.50 ไร่ ในจำนวนนี้ ปรับหันมาปลูกแบบผสมผสานมากขึ้นประมาณร้อยละ 7 ของจำนวนเกษตรกรทั้งหมดที่โค่นยางแล้วปลูก (จำนวน 3,043 ราย พื้นที่ 32,315.30 ไร่) พร้อมทั้ง กยท. มีทุนสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถนำไปประกอบอาชีพเสริม เช่น ปศุสัตว์ ประมง พืชผักสวนครัว พืชร่วมยาง เป็นต้น ระหว่างรอผลผลิต จนถึงมีผลผลิตแล้ว รายละไม่เกิน 50,000 บาท ปัจจุบัน กยท. ได้เร่งประชาสัมพันธ์เพื่อให้ชาวสวนยางสามารถเข้าถึงสวัสดิการด้านนี้ เพราะมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการเพียง 430 ราย รวมเป็นเงิน 17,133,000 บาท ทั้งนี้ ข้อเสนอสำหรับการปฏิรูปด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการผลิต การแปรรูป การตลาด เพื่อให้เกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยสามารถเข้าถึงสิทธิ สวัสดิการ จะเร่งหารือกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้เร็วที่สุด เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาแบบบูรณาการทุกภาคส่วน