นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการทีเส็บ กล่าวว่า จากยุทธศาสตร์สานพลังประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากที่เน้นการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ทีเส็บ ในฐานะตัวแทนของภาครัฐที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการจัดงานไมซ์ในประเทศ จึงได้จัดให้มีโครงการ Smart Village (สมาร์ท วิลเลจ) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมให้กลุ่มบริษัทองค์กร (Corporate) เดินทางไปจัดกิจกรรมนอกสถานที่ของบริษัท (Company Outing) และกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR trip) ในพื้นที่ชุมชนที่มีศักยภาพนอกเหนือจากไมซ์ซิตี้ทั้ง 5 จังหวัด (กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต พัทยา และขอนแก่น) ซึ่งจังหวัดอื่นๆ ของไทย ยังมีศักยภาพ มีกิจกรรมอัตลักษณ์ทางวัฒนธรม วิถีชีวิต รวมทั้งผลิตผลสินค้าของชุมชน ที่สามารถพัฒนาเพิ่มมูลค่าเพื่อเป็นซัพพลายที่ดีแก่การจัดกิจกรรมไมซ์ ทั้งในรูปแบบเชิงธุรกิจและสัมมนา ซึ่งจะเป็นการกระจายโอกาส สร้างรายได้ให้แก่เศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน จากการประสานความมือระหว่างหน่วยงานรัฐ เอกชน และชุมชน ขณะเดียวกันยังมีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือเพื่อพัฒนาประเทศภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0
"ทีเส็บได้คัดเลือก 4 ชุมชนต้นแบบสำหรับโครงการ Smart Village ที่อยู่ในจังหวัดที่เป็นพื้นที่เป้าหมายไมซ์ในประเทศ มีศักยภาพรองรับการจัดกิจกรรมไมซ์ ที่สามารถรองรับลูกค้าองค์กรขนาด 20 คน ขึ้นไปได้ และต้องเป็นชุมชนที่มีศักยภาพที่จะพัฒนาทางด้าน Smart Village 4 มิติ ได้แก่ Smart Culture มีมิติความล้ำทางวัฒนธรรมหรือรากฐานของชุมชนจากการที่ได้ผสมผสานกับนวัตกรรมจนกลายเป็นเสน่ห์ใหม่ของท้องถิ่น Smart Community สามารถนำนวัตกรรมเข้ามาเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมและก่อเกิดความร่วมมือกันในทุกภาคส่วน Smart Experience เป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่ หรือเป็นวิธีการใหม่ ๆ ในการสร้างสรรค์ประสบการณ์แบบเดิม และ Smart MICE มุ่งเน้นจัดกิจกรรมที่แสดงศักยภาพและความพร้อมของชุมชน มีการดีไซน์ต่อยอดสร้างสรรค์จากประสบการณ์แบบเดิม รวมถึงนำนวัตกรรมมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาชุมชนให้กลายเป็นจุดหมายที่น่าสนใจ ซึ่งจากเกณฑ์การคัดเลือกดังกล่าว ทำให้ทีเส็บได้เล็งเห็น 4 ชุมชนต้นแบบที่มีศักยภาพ ได้แก่ 1.) ชุมชนสวนผึ้ง จ.ราชบุรี 2.) ชุมชนปากแพรก จ.กาญจนบุรี 3.) ชุมชนดอยแม่สลองนอก จ.เชียงราย และ 4.) ชุมชนวังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา และได้มีการเชิญพันธมิตรเอกชนเข้าร่วมโครงการ ได้แก่ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด บริษัท ทิปโก้ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีวี ธันเดอร์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ขณะเดียวกันเพื่อยกระดับชุมชนไปในทิศทางที่ SMART ขึ้น จึงได้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือโดยได้รับการสนับสนุนจาก 11 กลุ่มสตาร์ทอัพ ให้ชุมชนดังกล่าวเป็นจุดหมายไมซ์ใหม่ที่น่าสนใจแก่ตลาดกลุ่มบริษัทองค์กรเอกชนในประเทศไทย ทั้งนี้ดำเนินโครงการภายใต้แนวคิด "Co-Creation" อาศัยความร่วมมือร่วมใจกันของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน สร้างสรรค์ผลผลิตทางความคิดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มต่อยอดธุรกิจไมซ์ โดยแบ่งการทำงานร่วมกันเป็น 4 ทีม ประกอบด้วย
1.) ชุมชนสวนผึ้ง จ.ราชบุรี โดยบริษัท ทิปโก้ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ Happy Famers, Take me Tour และ Tickettail
2.) ชุมชนปากแพรก จ.กาญจนบุรี โดย กรุงศรี ฟินโนเวต และ Trippacker, ZipEvent และ Local Pillow
3.) ชุมชนดอยแม่สลองนอก จ.เชียงราย โดย บริษัท ทีวี ธันเดอร์ จำกัด (มหาชน) และ Local Alike, VT Thai และ Penguint
4.) ชุมชนวังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา โดย The AIS Startup และ Hivesters, Veget Daily และ ZipEvent
ด้านผู้แทนจาก 4 บริษัทเอกชนที่เป็นพันธมิตรในการร่วมดำเนินโครงการ ได้แสดงความคิดเห็นหลังจากเข้าร่วมโครงการแล้ว โดย นายกิตติเชษฐ์ สถิตนพชัย ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ทิปโก้ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "ความพิเศษของโครงการ Smart Village นั้นนอกจากจะได้ให้ทริปดีๆ เป็นของขวัญแก่พนักงานแล้ว ยังได้ให้สิ่งดีๆ ตอบแทนแก่สังคม เป็นการให้ที่ได้รับทันที การได้ลงไปทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนในพื้นที่ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี อาทิ กิจกรรมทำเทียนหอม ปั้นดินเป็นของที่ระลึกกับชาวบ้านในชุมชน บายศรีที่หมู่บ้านกะเหรี่ยง หรือเก็บผักออร์แกนิคแบบสดๆ ทำให้ได้รับรู้ว่าชุมชนท้องถิ่นของไทยเรานั้นมีศักยภาพอีกมาก รอคอยให้เราไปค้นพบและต่อยอดด้วยนวัตกรรมและความร่วมมืออย่างพร้อมเพรียงกันของทุกภาคส่วน" นายแซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด กล่าวว่า "กิจกรรม Company Outing จำเป็นสำหรับบริษัท เพราะเป็นครั้งเดียวในหนึ่งปีที่พนักงานจะได้สร้างความสนิทสนมกันผ่านกิจกรรมที่สร้างสรรค์โดยไม่คิดถึงเรื่องงาน ซึ่งช่วยให้การทำงานในอนาคตราบรื่นขึ้น การเข้าไปจัดกิจกรรมที่ Smart Village ณ ชุมชนปากแพรก จ.กาญจนบุรี ทำให้ Company Outing น่าจดจำมากขึ้น อาทิ การจัดเวิร์คช้อปร่วมกับชุมชนบนแพ ซึมซับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ทำกิจกรรมจิตอาสากับช้างชรา และชมระบำไก่ ตลอดจนการค้นหาสถานที่ท่องเที่ยว ที่พัก ผ่านแอปพลิเคชันของสตาร์ท อัพทำให้สะดวกมากขึ้น ทุกประสบการณ์ล้ำค่าเหล่านี้ ทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ของกิจกรรมที่ไม่ใช่แค่มาพักผ่อนหย่อนใจ แต่ยังได้สร้างสรรค์กิจกรรมล้ำสมัยร่วมกันอีกด้วย"
นายณฐกฤต วรรณภิญโญ ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการพัฒนาธุรกิจ บริษัท ทีวี ธันเดอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "ในโอกาสที่เริ่มเข้าสู่เทศกาลที่บริษัทต่างๆ เริ่มออกไป Company Outing กัน อยากจะแนะนำอีกหนึ่งจุดหมายที่น่าสนใจ คือ ชุมชนดอยแม่สลองนอก จ.เชียงราย ซึ่งเป็นชุมชนต้นแบบในโครงการ Smart Village ที่มีมากกว่าวิวสวย อากาศดี เหมาะแก่การทำ Team building ควบคู่ไปกับการเรียนรู้วิธีถักกำไลกับชาวอาข่า ได้เก็บยอดชาสดๆ พร้อมชมการแสดงท้องถิ่น อาทิ เต้นกระทุ้งไม้ไผ่ กิจกรรมทั้งหลายเหล่านี้ล้วนเป็นแรงบันดาลใจให้พนักงานได้สร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพและมีคุณค่าแก่สังคมต่อไป" ส่วน ดร.ศรีหทัย พราหมณี หัวหน้าฝ่าย เอไอเอส สตาร์ท อัพ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "Smart Village ณ ชุมชนวังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา เป็นโครงการที่ดีมาก เพราะเป็นการนำจุดแข็งของทั้ง ภาครัฐ องค์กรเอกชนใหญ่ๆ สตาร์ท อัพ และ ชุมชน มาร่วมกันสร้างอนาคตให้ดีขึ้น ผ่านการออกไป Company Outing กันที่ชุมชนที่มีความพร้อม มีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย อาทิ เวิร์คช้อป เพาะเห็ด ร่วมกันปลูกป่า พายเรือคายัค และได้นั่งเสวนากันภายใต้บรรยากาศสุดชิลที่โรงคั่วกาแฟวังน้ำเขียว ประเทศไทยยังมีชุมชนดีๆ อีกมากที่น่าสนับสนุน ทั้งยังสามารถนำนวัตกรรมจากกลุ่มสตาร์ท อัพมาช่วยต่อยอดเศรษฐกิจของชุมชน สร้างอนาคตที่ดีขึ้นให้กับชุมชนและสังคมด้วย"
"ภาพรวมการดำเนินงานนั้น นอกจากการสร้างมูลค่าเพิ่มต่อยอดให้ธุรกิจไมซ์แล้ว ผู้ที่มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมในชุมชนต้นแบบ ต่างเล็งเห็นถึงศักยภาพของชุมชน ที่สามารถสร้างกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ ตอบรับความต้องการของกลุ่มลูกค้าไมซ์ ในขณะเดียวกัน กลุ่มสตาร์ท อัพ ต่างก็สนุกกับการสรรหาวิธีโปรโมทชุมชน เพื่อดึงจุดเด่นของแต่ละพื้นที่ออกมาเผยแพร่ โดยเฉพาะการโปรโมทผ่านช่องทางออนไลน์ทั้ง Facebook, Youtube ก็ยิ่งได้รับความสนใจ ส่งเสริมให้ชุมชนดำเนินธุรกิจบนฐานความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม ทำให้ชุมชนดังกล่าวเป็นจุดหมายไมซ์ใหม่ที่น่าสนใจ ผู้แทนชุมชนเองก็จะยิ่งมีความภาคภูมิใจในคุณค่าของแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันให้ชุมชนเข้มแข็งและอยู่ได้อย่างยั่งยืน และที่สำคัญที่สุดการบูรณาการ การใช้เทคโนโลยีทั้งเพื่องานบริการอย่างการจองที่พักในชุมชนผ่านแอพลิเคชั่น หรือการประชาสัมพันธ์กิจกรรม สินค้า บริการ สามารถสร้างการรับรู้ถึงศักยภาพของแต่ละชุมชนได้อย่างรวดเร็ว ตรงกลุ่มเป้าหมาย ส่งเสริมด้านการขายและตลาดให้แต่ละพื้นที่ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนแก่ระบบห่วงโซ่ธุรกิจของประเทศ" นายจิรุตถ์ กล่าวโดยสรุป
สำหรับ ภารกิจการแข่งขันโปรโมทชุมชน SMART VILLAGE ครั้งนี้ องค์กรภาคเอกชน และทีมสตาร์ทอัพที่ร่วมโครงการฯ จะต้องโปรโมทสื่อวิดีทัศน์ของชุมชน เพื่อสร้างการรับรู้ผ่านช่องทางออนไลน์ให้ได้มากที่สุด ตั้งแต่วันที่ 1-20 พฤศจิกายน 2560 โดยทีมที่สามารถสร้างการรับรู้ทางสื่อออนไลน์มียอด View, Like, Share, Comment สูงที่สุดจะเป็นผู้ชนะ โดยทีมที่สามารถสร้างการรับรู้ทางสื่อออนไลน์มียอด View, Like, Share, Comment สูงที่สุดได้แก่ ชุมชนปากแพรก จังหวัดกาญจนบุรี โดยมียอด View, Like, Share, Comment จำนวน 337,667 ครั้ง สร้างการรับรู้ผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ ได้ 1,069,501 วิว ได้รับรางวัลอุปกรณ์สื่อสารอิเลคทรอนิกส์ มูลค่ารวมกว่า 100,000 บาท พร้อมโล่เกียรติคุณ ด้านภาพรวมการดำเนินงาน แคมเปญการแข่งขันโปรโมทชุมชน SMART VILLAGE ได้รับความสนใจ สามารถสร้างการรับรู้ผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ ได้รวมทั้งหมด 4,070,953 วิว ภายในระยะเวลาเพียง 3 สัปดาห์ ทั้งนี้ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลของโครงการ Smart Village ได้ที่เว็บไซท์โครงการฯ https://smartvillagecampaign.com/