นางสาวกาญจนา เอื้อโอบอ้อม กรรมการผู้จัดการ บริษัท เหมราช รีท แมนเนจเม้นท์ จำกัด ในฐานะผู้จัดการกองทรัสต์ของทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์เหมราช (HREIT) เปิดเผยว่า ภายหลังจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.)ได้อนุญาตให้เสนอขายหน่วยทรัสต์ ของกองทรัสต์ HREIT และแบบแสดงรายการข้อมูล / ร่างหนังสือชี้ชวน สำหรับการเสนอขายหน่วยทรัสต์ในการเพิ่มทุน ครั้งที่ 1 มูลค่าไม่เกิน 1,690 ล้านบาท ในช่วงที่ผ่านมา โดยการจัดสรรหน่วยทรัสต์ที่ออกขายในการเพิ่มทุน ครั้งที่ 1 จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน จำนวนไม่เกิน 133,280,000 หน่วย ในช่วงราคาการเสนอขายเบื้องต้น 8.20-8.30 บาทต่อหน่วย ซึ่งผู้สนใจจองซื้อหน่วยทรัสต์จะต้องชำระราคาจองซื้อที่ราคา 8.30 บาทต่อหน่วย
ทั้งนี้ ได้จัดสรรหน่วยทรัสต์ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ของหน่วยทรัสต์ที่จะมีการออกและเสนอขายในการเพิ่มทุนครั้งนี้ เพื่อเสนอขายให้กับผู้ถือหน่วยทรัสต์เดิมที่มีรายชื่อปรากฏในสมุดทะเบียนผู้ถือหน่วยทรัสต์ในวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา ในอัตราส่วน 8.5438 หน่วยทรัสต์เดิม ต่อ 1 หน่วยทรัสต์ที่ออกและเสนอขายเพิ่มเติม และหน่วยทรัสต์ส่วนที่เหลือจะเสนอขายให้แก่ เหมราช และ/หรือกลุ่มบุคคลเดียวกันของเหมราช และผู้มีอุปการคุณของผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหน่วยทรัสต์
โดยกำหนดระยะเวลาการจองซื้อหน่วยทรัสต์ HREIT ของผู้ถือหน่วยทรัสต์เดิมประเภทบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล สามารถจองซื้อในวันที่ 15 และ 18-21 ธันวาคม 2560 ส่วนผู้ถือหน่วยทรัสต์เดิมประเภทนักลงทุนสถาบันที่มิได้นำส่งใบ Book building จองซื้อในวันที่ 15 และ 18-21 ธันวาคม 2560 โดยผู้ถือหน่วยทรัสต์เดิมประเภทนักลงทุนสถาบันที่นำส่งใบ Book building และเหมราช และ/หรือกลุ่มบุคคลเดียวกันของเหมราช สามารถ จองซื้อได้ในวันที่ 25 – 26 ธันวาคม 2560 ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ทุกสาขา
นอกจากนี้ คาดว่าจะสามารถเข้าลงทุนในทรัพย์สินเพิ่มเติม และเริ่มซื้อขายหน่วยทรัสต์เพิ่มทุนได้ในต้นปีหน้าซึ่งหลังจากที่มีการลงทุนในทรัพย์สินใหม่ในครั้งนี้ จะส่งผลให้ขนาดทรัพย์สินรวมของกองทรัสต์ HREIT โตเกือบ 10,000 ล้านบาท จากเดิมอยู่ที่ประมาณ 8,000 ล้านบาท
สำหรับการเพิ่มทุนในครั้งนี้ของกองทรัสต์ HREIT จะเป็นการลงทุนในสิทธิการเช่าอาคารโรงงานและคลังสินค้าสำร็จรูปที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเหมราช และเหมราชโลจิสติกส์พาร์ค รวมจำนวน 5 โครงการ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นหลัก ประกอบด้วยโครงการนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง) (ESIE) โครงการนิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด (HESIE) โครงการนิคมอุตสาหกรรมเหมราชชลบุรี (HCIE)โครงการเหมราชโลจิสติกส์พาร์ค 4 (HLP 4) และโครงการเขตประกอบการอุตสาหกรรมเหมราชสระบุรี (HSIL)โดยมีพื้นที่เช่าอาคารทั้งหมดในส่วนที่กองทรัสต์HREIT จะลงทุนเพิ่มเติม ประมาณ 55,131 ตารางเมตร เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ลงทุนแล้ว 261,314 ตารางเมตรในพื้นที่จังหวัดชลบุรี และระยอง ทำให้กองทรัสต์HREIT จะมีพื้นที่เช่าหลังจากที่ลงทุนเพิ่มเติมแล้วรวม 316,445 ตารางเมตร
" กองทรัสต์ HREIT จะลงทุนในทรัพย์สินที่จะลงทุนเพิ่มเติมไม่เกิน 1,690 ล้านบาท เพื่อลงทุนในสิทธิการเช่าระยะยาวในอาคารโรงงาน และคลังสินค้าสำเร็จรูป 30 ปี และสิทธิการต่อสัญญาเช่าอีก 30 ปี รวมเป็น 60 ปี โดยพื้นที่ทรัพย์สินที่จะลงทุนทั้งสิ้น 55,131 ตร.ม. ประกอบด้วยอาคารโรงงานสำเร็จรูป 47,552 ตร.ม. และอาคารคลังสินค้าสำเร็จรูป 7,579 ตร.ม. ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีคุณภาพสูง ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชภายใต้พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ (EEC) และเขตประกอบการอุตสาหกรรมเหมราชสระบุรี ซึ่งอยู่บนทำเลยุทธศาสตร์ตอนบนของกรุงเทพฯ ที่มีผู้เช่าเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยอาคารโรงงาน และคลังสินค้าดังกล่าวมีอายุเฉลี่ยประมาณ 5.26 ปี เท่านั้น นอกจากนั้นในการระดมทุนซื้อทรัพย์สินในครั้งนี้ จะมาจากการขายหน่วยลงทุนเพิ่มเติมไม่เกิน 133.28 ล้านหน่วย และการกู้ยืมเงินระยะยาวจากสถาบันการเงินไม่เกิน 600 ล้านบาท " นางสาวกาญจนา กล่าว
สำหรับทรัพย์สินที่ลงทุนเพิ่มเติมในครั้งนี้ เป็นทรัพย์สินที่มีคุณภาพดี และมีอัตราการเช่าพื้นที่ 100% ของพื้นที่เช่า มีศักยภาพในการสร้างรายได้ และเจ้าของทรัพย์สินจะชดเชยรายได้จากค่าเช่า และค่าบริการในกรณีผู้เช่าออกและชดเชยรายได้ส่วนต่างจากอัตราค่าเช่าขั้นต่ำเป็นเวลา 3 ปี นับจากวันที่กองทรัสต์ HREIT เข้าลงทุน ซึ่งการชดเชยรายได้ดังกล่าว จะช่วยลดความผันผวนในการดำเนินธุรกิจ และสร้างความมั่นคงของผลประกอบการของกองทรัสต์ HREIT และจะเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายฝ่ายทุน (CAPEX) ให้แก่ทรัพย์สินที่กองทรัสต์ HREIT ที่ลงทุนเพิ่มเติมเป็นระยะเวลา 5 ปี ซึ่งการลงทุนครั้งนี้จะเพิ่มผลประโยชน์ให้กับกองทรัสต์HREIT โดยจะเสริมให้รายได้ค่าเช่าของกองทรัสต์ HREIT มีความมั่นคงเพิ่มขึ้น และกระจายความเสี่ยงของการจัดหาผลประโยชน์ เพิ่มความหลากหลายของผู้เช่าอันเป็นแหล่งที่มาของรายได้ ซึ่งจะช่วยลดการพึ่งพารายได้จากผู้เช่ารายเดิม