นายพูลสุข อุเทนพันธ์ ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทย เขตภาคใต้ตอนล่าง กล่าวว่า จากสถานการณ์ภาคใต้ที่ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและทำให้เกิดน้ำท่วมขังโดยเฉพาะเขตพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างครอบคลุม 9 จังหวัด ได้แก่ ยะลา นราธิวาส สงขลา ปัตตานี พัทลุง ตรัง สตูล นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี ทำให้พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางได้รับความเดือดร้อน ล่าสุด จากการสำรวจเบื้องต้น พบพื้นที่สวนยางได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ประมาณ 61,690 ไร่ ซึ่งทาง กยท. เขตภาคใต้ตอนล่าง ไม่นิ่งนอนใจกับสภาพปัญหาและความเสียหายที่เกิดขึ้น เร่งให้เจ้าหน้าที่ของ กยท. ลงพื้นที่เพื่อมอบสิ่งของอุปโภค บริโภคที่จำเป็น พร้อมเข้าเยี่ยมสร้างขวัญและกำลังใจแก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ ซึ่งหลังจากน้ำลดจะส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบความเสียหายทันทีทุกพื้นที่
ด้าน นายณรงศักดิ์ ใจสมุทร ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมและพัฒนาการผลิต กล่าวว่า พื้นที่ทั้ง 9 จังหวัดที่ประสบอุทกภัย นับเป็นพื้นที่ปลูกยางหลักของประเทศ ซึ่งมีเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. จำนวน748,386 ราย คิดเป็นพื้นที่ประมาณกว่า 7.4 ล้านไร่ ทั้งนี้ หากสวนยางได้รับผลกระทบจนเสียสภาพสวน (ต้นยางพาราเสียหายไม่น้อยกว่า 20 ต้นต่อไร่) จากอุทกภัยในครั้งนี้ สามารถติดต่อแจ้งขอรับเงินช่วยเหลือ จาก กยท. เป็นเงินช่วยเหลือตามมาตรา 49(5) ค่าใช้จ่ายในการจัดสวัสดิการเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง รายละไม่เกิน 3,000 บาท ทันที โดยเกษตรกรชาวสวนยางที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติสามารถแจ้งขอรับการช่วยเหลือ หลังจากสวนประสบภัยภายใน 15 วัน ที่ กยท.สาขาใกล้บ้าน ซึ่งทาง กยท. จะส่งเจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบ เพื่อช่วยเหลือเยียวยาแก่พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง
"ยางพารา เป็นพืชที่ทนต่อภาวะน้ำท่วมขังได้นานพอสมควร (ประมาณ 2 สัปดาห์ ถึง 2 เดือน) ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับอายุต้นยางพารา ระดับและความยาวนานของน้ำที่ท่วม สภาพน้ำท่วมขังจะทำให้ดินสูญเสียธาตุอาหาร หรือกระทบต่อรากยาง นอกจากนี้ ในภาวะที่ฝนตกติดต่อกันหลายวันหรือน้ำท่วม ทำให้ดินอ่อนตัวลงโดยเฉพาะรอบๆ บริเวณโคนต้น มีความเสี่ยงต่อต้นยางโค่นล้มได้" นายณรงศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย