ปัจจุบันคนไทยทิ้งอาหารปริมาณ 1.14 กิโลกรัมต่อวันต่อคน ซึ่งเป็นอาหารส่วนเกินถึง 64%* อาหารส่วนเกินที่ถูกคัดเลือกแล้วจำนวน 1 กิโลกรัมสามารถนำมาปรุงอาหารได้ 3 มื้อสำหรับผู้อพยพและผู้ด้อยโอกาส ด้วยเหตุนี้ บริษัท เบโค (ไทย) จำกัด แบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่เติบโตเร็วที่สุดในทวีปยุโรป จึงร่วมกับ "มูลนิธิเอสโอเอส ประเทศไทย" (Scholars of Sustenance Thailand Foundation) ที่มุ่งมั่นลดปริมาณมลพิษสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากอาหารส่วนเกินจัดแคมเปญ "Freeze Out Food Waste" มอบตู้เย็นนีโอฟรอสต์จำนวน 6 เครื่อง ไปตั้งยังโรงเรียน 6 แห่ง เพื่อจัดเก็บอาหารส่วนเกินและส่งต่อไปยังผู้ด้อยโอกาสเป็นมื้ออาหารในแต่ละวัน พร้อมจัดกิจกรรมปลูกฝังเยาวชนให้เห็นความสำคัญของอาหารส่วนเกินที่ยังคงคุณค่าทางโภชนาการเพื่อลดมลพิษสิ่งแวดล้อม ณ โรงเรียน ท็อปซี่ เทอร์วี่ อินเตอร์เนชั่นแนล สคูล เมื่อวันก่อน
นายพรชัย ตระกูลเตชะเดช ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและวางแผนผลิตภัณฑ์ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค บริษัท เบโค (ไทย) จำกัด กล่าวว่า "นอกจากความมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคใหม่ พร้อมช่วยให้พวกเขามีชีวิตที่สะดวกสบายขึ้นในแต่ละวันแล้ว เรายังมุ่งมั่นให้นวัตกรรมของเราเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้สังคมและสิ่งแวดล้อมดีขึ้นด้วยการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงผลิตภัณฑ์ที่ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยประสิทธิภาพของตู้เย็นนีโอฟรอสต์ที่ช่วย คงความสดของอาหารได้ยาวนาน สามารถช่วยให้ทุกครัวเรือนจัดการกับอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ช่วยลดปริมาณอาหารส่วนเกินที่ยังคงคุณค่าทางโภชนาการต่อครัวเรือนได้ สอดคล้องกับภารกิจของมูลนิธิเอสโอเอสที่มุ่งเน้นการจัดการอาหารส่วนเกินในชุมชน และนำไปบริจาคให้แก่ชุมชนที่ต้องการอาหารเหล่านั้น เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการทำอาหารให้แก่เด็กกำพร้าและผู้อพยพ เราจึงยินดีมอบตู้เย็น 6 เครื่องให้แก่เอสโอเอสเพื่อนำไปตั้งยังโรงเรียนต่างๆ เพื่อให้เด็กๆ รู้คุณค่าของอาหารส่วนเกินและนำอาหารส่วนเกินเหล่านั้นมาเก็บไว้ในตู้เย็นนีโอฟรอสต์ของเราเพื่อให้ทางเอสโอเอสนำไปมอบแก่เด็กด้อยโอกาสต่อไป เราหวังว่าจะสามารถเป็นฟันเฟืองเล็กๆ ที่ทำประโยชน์ให้แก่สังคมและสิ่งแวดล้อมด้วยนวัตกรรมของเรา"
อบิเกล สมิธ ประธานฝ่ายปฏิบัติการ มูลนิธิเอสโอเอส ประเทศไทย กล่าวว่า "หน้าที่หลักของเอสโอเอสคือความมุ่งมั่นลดปริมาณขยะที่มาจากอาหารในประเทศไทย ด้วยการเข้าไปจัดการและคัดเลือกอาหารส่วนเกินที่ยังมีคุณภาพจากโรงแรม ซูเปอร์มาเก็ต ร้านอาหาร คาเฟ่ ฯลฯ ที่ผู้บริจาคในชุมชนนั้นๆ นำไปไว้ในตู้เย็นชุมชนที่เรานำไปตั้งไว้ อาทิ ชิ้นส่วนของผักที่ถูกหั่นทิ้งออกไปหรือผักที่แช่อยู่ในตู้เย็นหลายวันไม่ถูกนำมาประกอบอาหาร โดยนักโภชนาการของเราจะทำหน้าที่คัดเลือกอาหารที่ยังคงคุณค่าโภชนาการและขนส่งต่อไปยังชุมชนต่างๆ ที่ต้องการอาหารโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย อาทิ บ้านเด็กเมอร์ซี่คลองเตย, สถานสงเคราะห์คนไข้โรคจิตทุเลากึ่งวิถีชาย, สถานสงเคราะห์คนไข้โรคจิตทุเลากึ่งวิถีหญิง, สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนปากเกร็ด เป็นต้น ตลอดระยะเวลาที่เราริเริ่มโครงการมาตั้งแต่ต้นปี 2559 เราได้บริจาคอาหารไปแล้วกว่า 300,000 มื้อ นอกจากนี้ อาหารที่ไม่สามารถนำไปประกอบอาหารต่อได้ เราก็มีวิธีจัดการกับอาหารเหล่านั้นเพื่อไม่ให้กลายเป็นมลพิษสิ่งแวดล้อมด้วยการนำไปทำปุ๋ยหมักให้แก่เกษตรกรในเขตกรุงเทพและปริมณฑล เราดีใจที่ภาคเอกชนเล็งเห็นความสำคัญของปัญหาอาหารส่วนเกิน จนเกิดความร่วมมือกันขึ้นระหว่างเรา เบโค และโรงเรียนต่างๆ ในครั้งนี้ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าปัญหามลพิษที่เกิดจากอาหารส่วนเกินนั้นจะลดลงไม่มากก็น้อย"
สำหรับแคมเปญ "Freeze Out Food Waste" เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน 2561 โดยเบโคได้มอบตู้เย็น นีโอฟรอสต์รุ่นมิดไนต์แบล็ค ซีรี่ย์ จำนวน 6 เครื่องให้แก่มูลนิธิเอสโอเอสเพื่อนำไปตั้งไว้ที่โรงเรียน 6 แห่ง เริ่มที่แรกคือโรงเรียน ท็อปซี่ เทอร์วี่ ออฟ แบงค็อก พร้อมกับจัดกิจกรรมให้ความรู้เยาวชนให้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาอาหารส่วนเกินและความรู้ด้านโภชนาการต่างๆ ผ่านการเล่านิทาน "การเดินทางของมะเขือเทศ" และให้ความรู้เด็กๆ เกี่ยวกับเรื่องโภชนาการในผักและผลไม้โดยนักโภชนาการจากมูลนิธิเอสโอเอส ประเทศไทย พร้อมเปิดสอนทำอาหารจากผักหรือวัตถุดิบในตู้เย็นที่เราคิดว่าไม่สามารถนำมาประกอบอาหารได้ มารังสรรค์เป็นเมนูอาหารจานเด็ดที่ยังคงคุณค่าโภชนาการอยู่อย่างครบถ้วน ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้จัดขึ้นที่โรงเรียน ท็อปซี่ เทอร์วี่ อินเตอร์เนชั่นแนล สคูล โดยมี เด็กนักเรียนและผู้ปกครอง ร่วมกิจกรรมกว่า 60 คน
ด้านหนูน้อยผู้ร่วมกิจกรรม ด.ญ.ยูกิ วิลเลียมสัน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 อายุ 10 ปี บอกว่า "วันนี้หนูได้รับความรู้เรื่องการเก็บรักษาอาหาร ไม่ควรทิ้งอาหารที่เราทานเหลือ ควรทานให้หมดค่ะ ส่วนผักหรือผลไม้บางอย่างที่เราเก็บไว้ในตู้เย็นเราอาจจะคิดว่ามันใช้ไม่ได้แล้ว แต่จริงๆ ยังมีประโยชน์และมีคุณค่าทางโภชนาการอยู่ ซึ่งสามารถนำมาทำอาหารได้อีก แบบนี้ก็จะช่วยลดขยะที่เกิดจากอาหารได้ค่ะ" ส่วน ด.ช. เจ ฮูน จอง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 อายุ 10 ปี กล่าวว่า "ไม่ เคยรู้มาก่อนเลยครับว่ามะเขือเทศที่เห็นกันอยู่เป็นลูกๆ จะนำมาปลูกใหม่ได้อีก ถ้ามะเขือเทศที่ผมกินเหลือ ก็สามารถนำมาหั่นแล้วปลูกลงดินเป็นต้นมะเขือเทศต้นใหม่ได้ ไม่จำเป็นต้องนำไปทิ้ง ช่วยลดมลพิษที่เกดจากอาหารส่วนเกินในสิ่งแวดล้อมได้ครับ"