สรุปคำบรรยายงานสัมมนาทางวิชาการองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ผลกระทบของหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ต่อตลาดแรงงานและระบบการผลิต

จันทร์ ๑๘ ธันวาคม ๒๐๑๗ ๑๒:๑๔
สรุปคำบรรยาย เรื่อง ผลของปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์อัตโนมัติต่อตลาดแรงงาน ภาคการผลิตและระบบเศรษฐกิจ โดย อนุสรณ์ ธรรมใจ สัมมนาทางวิชาการ ตลาดแรงงานและโอกาสมีงานทำในอนาคต เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2560 ณ. โรงแรมพูลแมน กรุงเทพฯ จัดโดย องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และ สภาองค์กรนายจ้างแห่งประเทศไทย

มีการวิจัยระบุว่า คนจะตกงานจำนวนมากจากหุ่นยนต์อัตโนมัติที่ต้องมาทำงานแทนที่ โดยเฉพาะในรายงานของ "สำนักวิจัย แมคคินซีย์ โกลเบิล" ระบุว่าจะมีคนมากกว่า 800 ล้านคนตำทั่วโลกต้องสูญเสียตำแหน่งงานให้กับหุ่นยนต์อัตโนมัติระหว่างปี ค.ศ. 2016-2030 หรือคิดเป็นผลกระทบต่อคนประมาณ 1 ใน 5 ของตลาดแรงงาน

เนื่องจากถูกหุ่นยนต์เข้ามาแทนที่ และ แรงงานจำเป็นต้องไปฝึกทักษะใหม่ๆเพื่อทำหน้าที่ในการควบคุมเครื่องจักรอัตโนมัติมากขึ้น หรือ งานที่เกี่ยวพันกับการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ตำแหน่งงานที่ต้องอาศัยการปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ด้วยกันจะได้ผลกระทบน้อยกว่า นอกจากนี้งานบางประเภทที่ต้องใช้ทักษะทางอารมณ์ ทักษะทางสังคมและความคิดสร้างสรรค์ยังไม่สามารถถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีได้ แต่การนำระบบหุ่นยนต์มาใช้ในระบบเศรษฐกิจอาจกดดันให้ค่าแรงลดลงโดยเฉลี่ย 0.5% เป็นอย่างน้อย

ทางด้านองค์กรแรงงานระหว่างประเทศหรือไอแอลโอ ประเมินว่า ในสองทศวรรษข้างหน้า ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ จะส่งต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างมากต่อตำแหน่งงาน การจ้างงานและกิจการต่างๆในประเทศไทย ไอแอลโอประมาณว่าร้อยละ 44 ของการจ้างงาน (กว่า 17 ล้านตำแหน่ง) ในไทยเผชิญความสูงที่ถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เสื้อผ้า รองเท้า ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิกส์ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร พนักงานเคาเตอร์และพนักงานตามเครือข่ายสาขาต่างๆ (ซึ่งเครือข่ายสาขาอาจปิดลงจากการเพิ่มขึ้นของการทำธุรกรรมผ่านทางออนไลน์มากขึ้นตามลำดับ)

แรงงานทั่วโลก รัฐบาล นายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องหันมาให้ความสนใจในการกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อวางแผนรับมือกับภาวะดังกล่าว ต้องมีการออกแบบระบบเศรษฐกิจใหม่เพื่อรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทำให้เกิดความเป็นธรรม สร้างระบบแรงงาน ตลาดแรงงานที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยไม่ขัดขวางความก้าวหน้าของนวัตกรรม เรากำลังอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านการอภิวัฒน์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่นเดียวกับที่โลกเคยเชิญมาแล้วในช่วงปฏิวัติ (อภิวัฒน์) อุตสาหกรรมครั้งแรกตั้งแต่ยุคศตวรรษที่ 18 ต่อเนื่องเรื่อยมา เริ่มตั้งแต่อุตสาหกรรม 1.0 จนถึง อุตสาหกรรม 4.0

การพัฒนาอย่างก้าวกระโดด การแพร่กระจายตัวอย่างรวดเร็วของความเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ยุคอินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (Internet of things) กำลังปรับโฉมหน้าทุนนิยมโลกาภิวัฒน์รอบใหม่ พลิกโฉมเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ระบบการผลิต ระบบห่วงโซ่อุปทาน และการตลาดและการเข้าถึงผู้บริโภค ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ส่งผลต่อระบบแรงงานตลาดแรงงาน มาตรฐานแรงงาน ทรัพยากรมนุษย์อย่างมาก โดยเฉพาะระบบการผลิตและระบบเศรษฐกิจที่ใช้ระบบอัตโนมัติของเครื่องจักร สมองกลอัจฉริยะที่สามารถมาทำหน้าที่และทำงานแทนคนจำนวนมาก ด้วยความแม่นยำที่มากกว่า และ มีประสิทธิภาพสูงกว่า

สถาบันการศึกษาต่าง ๆ จึงต้องเร่งส่งเสริมพัฒนาหลักสูตรวิชาชีพที่สามารถเป็นฐานในการสร้างนวัตกรรมและสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น รวมทั้งปรับปรุงรูปแบบวิธีการเรียนการสอน ตลอดจนเทคโนโลยีทางการศึกษาเพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้แรงงานไทยสามารถทำงานได้ในตลาดแรงงานที่จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ทรัพยากรมนุษย์เหล่านี้ต้องทำงานกับระบบอัตโนมัติมากขึ้น ทำงานกับหุ่นยนต์และสมองกลอัจฉริยะระบบเสมือนจริง และ ระบบออนไลน์ได้ทำให้ระบบการผลิต ระบบการกระจายสินค้าและห่วงโซ่อุปทานเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เทคโนโลยีใหม่เข้ามาแทนที่เทคโนโลยีเก่าและทำให้กิจการอุตสาหกรรมและการจ้างงานจำนวนหนึ่งหายไป

เศรษฐกิจแบบแบ่งปัน (Sharing Economy) กำลังเป็นแนวโน้มแห่งอนาคตเช่นเดียวกัน แนวคิดในการแชร์การใช้โดยที่ผู้ใช้ไม่ต้องเป็นเจ้าของสิ่งที่ใช้ โดยชี้ประเด็นว่า สังคมที่เน้นการเป็นเจ้าของทุกสิ่งอย่าง ได้สร้างสังคมที่ผู้คนล้วนหนี้สินเกินตัว สะสมเกินพอดี อันนำมาสู่วิกฤติของระบบทุนนิยมโลก การบริโภคร่วมกัน (Collaborative Consumption) ที่ปัจเจกบุคคลเป็นผู้ขายตรงและเป็นผู้บริโภคตรง (P2P) แต่ละบุคคลเป็นได้ทั้งผู้ซื้อหรือผู้ขาย แล้วแต่ว่าต้องการเป็นบทบาทใด ในเวลาใด โมเดลธุรกิจแบบนี้ ส่งผลต่อพฤติกรรมในการตัดสินใจว่าจะเป็นเจ้าของทรัพย์สินโดยตรงหรือว่าเช่าใช้ สิ่งเหล่านี้ย่อมส่งผลต่อยอดขายสินค้า ตลาดแรงงาน การจ้างงาน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การเปลี่ยนแปลงตลาดแรงงานสู่ความต้องการแรงงานที่มีความรู้ ขณะเดียวกัน การก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ การลดลงของภาวะเจริญพันธุ์ทำให้ขาดแคลนแรงงาน ระบบเศรษฐกิจจำเป็นต้องใช้ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์และสมองกลอัจฉริยะในการทำงานและในระบบการผลิตมากขึ้น

ต้องทำให้ "มนุษย์" ทำงานร่วมกับ "หุ่นยนต์" และ "สมองกลอัจฉริยะ" ได้อย่างผสมกลมกลืนซึ่งต้องอาศัยระบบมาตรฐานแรงงาน ลักษณะตลาดแรงงานและระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงไปตามพลวัตเหล่านี้

ต้องปรับตัวสู่การทำงานและการผลิตที่ใช้ Capital Intensive and Knowledge Intensive Investment การปฏิรูปการศึกษาต้องตั้งโจทย์ว่า ประเทศต้องการคนแบบใดในอนาคต ระบบการศึกษาต้องผลิตคนแบบนั้น

ในหนังสือเล่มชื่อ A Visionary Nation – Four Centuries of American Dreams&What Lies Ahead โดย Zachary Karabell ได้ข้อสรุปว่า การที่อเมริกาเป็นมหาอำนาจ เจริญรุ่งเรืองทั้งที่เป็นประเทศเกิดใหม่เมื่อ 200 กว่าปีมานี่เอง เพราะ เสรีภาพและระบอบประชาธิปไตยของประชาชนที่เข้มแข็งมีเสถียรภาพ โดยเฉพาะเสรีภาพในการคิด การวิพากษ์วิจารณ์ และ การประกอบการ รวมทั้ง ความสามารถในการเข้าถึงโอกาสอย่างเสมอภาค ทำให้ ผู้คนที่มีความรู้ความสามารถปลดปล่อยศักยภาพได้อย่างเต็มที่ การศึกษาวิจัยและนวัตกรรมจะเกิดขึ้นได้และเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมแห่งเสรีภาพทางวิชาการ

สหรัฐอเมริกาเป็นสังคมอุดมปัญญา มีงานวิจัย งานประดิษฐ์และนวัตกรรมมากมายเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ในช่วง 200 ปีที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกา จึงมีระบบเศรษฐกิจแบบฐานความรู้มากกว่าประเทศใดๆ เวลานี้ มีเกาหลีใต้และไต้หวัน ที่เดินหน้าพัฒนาตัวเองสู่ ระบบเศรษฐกิจฐานความรู้ (KNOWLEDGE-BASED ECONOMY) ซึ่งหมายถึงเศรษฐกิจที่การผลิตและการแพร่กระจายสินค้าและบริการ อาศัยความรู้เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก เพื่อสร้างความเติบโต ความมั่งคั่งและสร้างงานในทุกภาคเศรษฐกิจ ความรู้และนวัตกรรมจึงเป็นปัจจัยหลัก ในการพัฒนามากกว่าเงินทุนและแรงงาน ความสำคัญของการวิจัยและพัฒนาโดยเฉพาะ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับฐานความรู้ และทำให้องค์กรต่าง ๆ ในระบบเศรษฐกิจและสังคมจำเป็นต้องปรับตัวไปสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ เพื่อสร้างนวัตกรรมและองค์ความรู้ใหม่

ปัจจัยพื้นฐานของการสร้างเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม คือ การลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ การลงทุนด้านการศึกษา การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา การลงทุนทางด้านข้อมูลสารสนเทศ การสื่อสารโทรคมนาคมและคอมพิวเตอร์

ขณะเดียวกัน นวัตกรรมในกระบวนการผลิตและกระบวนการทำงาน ความก้าวหน้าเรื่องระบบเทคโนโลยีอัตโนมัติ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และสมองกลอัจฉริยะ และ นวัตกรรมใหม่ๆ ส่งผลต่อตลาดแรงงาน

และผมเห็นว่า ตลาดแรงงานในอนาคตจะต้องการแรงงานที่มีความรู้สูงขึ้นและมีคุณวุฒิสูงขึ้น งานของแรงงานทักษะต่ำหรือไร้ทักษะจะถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักรและหุ่นยนต์มากกว่า แรงงานที่มีค่าตอบแทนสูงหรือค่าจ้างสูงกว่าต้นทุนการใช้เครื่องจักรเทคโนโลยีอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์จะมีความเสี่ยงในการสูญเสียตำแหน่งงานมากกว่า แรงงานที่มีค่าจ้างต่ำ

Richard Murnance และ Frank Levy นักวิชาการทางด้านเศรษฐศาสตร์ เขียนหนังสือเรื่อง The New Division of Labour (2004) ได้ตั้งข้อสังเกตว่า งานบางอย่างจะหาย งานบางอย่างจะเพิ่มขึ้น และ จะมีแบ่งงานทำกันใหม่ งานที่มีลักษณะทำซ้ำๆ ใช้กำลังกาย มีลักษณะเป็นกิจวัตร เป็น Routine Manual จะถูกแทนที่โดย เทคโนโลยีอัตโนมัติ เช่น งานประกอบชิ้นส่วนในสายการผลิต กำลังแรงงานบางส่วนในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนจะถูกปัญญาประดิษฐ์เข้ามาแทนที่ งานบันทึกข้อมูล ตลาดแรงงานของงานกลุ่มนี้จะหดตัวลงเรื่อยๆ ขณะที่ ตำแหน่งงานใหม่ๆจะขยายตัวในงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆเหล่านี้ และ งานที่ยุ่งยากในการเอาเทคโนโลยีอัตโนมัติมาใช้จะยังขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจ

องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ คาดว่ามีหลายอาชีพที่จะถูกแทนที่โดยการทำงานของปัญญาประดิษฐ์มากขึ้น ได้แก่ ผู้ดูแลออฟฟิศ นักบัญชี นักกฎหมาย นักพัฒนาเว็บไซต์ นักการตลาดออนไลน์ นักข่าวและบรรณาธิการ ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ สายการผลิตในโรงงาน เป็นต้น หากประเมินในกรณีของไทยอาจกระทบต่อตลาดแรงงานไม่ต่ำกว่า 30-40% ใน 10-20 ปีข้างหน้า

แต่เราไม่จำเป็นต้องวิตกกังวล ผลกระทบของเทคโนโลยีต่อตลาดแรงงานมากเกินไป หากเตรียมตัวรับมือให้ดี จะเป็น "โอกาส" มากกว่า "ความเสี่ยง" นอกจากนี้ ระบบการผลิตอัตโนมัติกำลังจะก่อให้เกิดภาวะว่างงาน "ถาวร" ขึ้นในบางตำแหน่งงาน อย่างไรก็ตาม หากระบบการผลิตโดยหุ่นยนต์และเทคโนโลยีอัตโนมัติสามารถสร้างความมั่งคั่งและทำให้ผลกำไร รายได้เพิ่มขึ้น และมีการกระจายผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม ตำแหน่งงานใหม่ๆย่อมเกิดขึ้นจากการการขยายตัวทางเศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วม (Inclusive Growth)

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version