นายสัตวแพทย์อภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า กรมปศุสัตว์เชิญเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานตรวจสอบอาหาร Canadian Food Inspection Agency (CFIA) ของประเทศแคนาดา มาตรวจรับรองโรงงานผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงของประเทศไทยระหว่างวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน – ๔ ธันวาคม ๒๕๖๐ มีโรงงานที่เข้ารับการตรวจรับรองจากคณะเจ้าหน้าที่แคนาดามีทั้งหมด ๗ แห่ง ประกอบด้วย โรงงานผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงในภาชนะบรรจุปิดสนิท ๕ แห่ง และโรงงานผลิตขนมขบเคี้ยวสำหรับสัตว์เลี้ยง จำนวน ๒ แห่ง เพื่อตรวจติดตามระบบการตรวจสอบและกำกับดูแลโรงงานผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงของกรมปศุสัตว์ ผลการตรวจอย่างไม่เป็นทางการ คณะเจ้าหน้าที่แคนาดาเชื่อมั่นในระบบการกำกับดูแลอย่างเข้มงวดของกรมปศุสัตว์ สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทุกขั้นตอนการผลิต โดยมีสัตวแพทย์ของกรมปศุสัตว์เป็น ผู้กำกับดูแลตามระบบมาตรฐานสากล ส่งผลให้ประเทศไทยสามารถส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงไปยังประเทศแคนาดาได้ต่อเนื่องและมีปริมาณเพิ่มขึ้น
"จากมาตรฐานการตรวจสอบรับรองที่เข้มงวดซึ่งกรมปศุสัตว์ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้หน่วยงาน CFIA ขอปรับรายละเอียดใน MOU ที่ได้ลงนามตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ ด้วยการขยายระยะเวลาในการเดินทางมาตรวจประเมินกรมปศุสัตว์จากเดิมปีละ ๑-๒ ครั้ง เป็น ๕ ปีต่อครั้ง และยังส่งอานิสงส์ต่ออุตสาหกรรมการผลิตเนื้อไก่ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบภายในประเทศด้วย ตอกย้ำถึงความเชื่อมั่นของแคนาดาที่มีต่อไทย" อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าว
ด้าน นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า อุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงไทยเป็นสินค้าส่งออกที่มีชื่อเสียงมานาน สามารถส่งขายได้ทั่วโลก และนับเป็นสินค้าที่มีอนาคตไกล ในปี ๒๕๕๙ มีการส่งออกเป็นอันดับ ๔ ของโลก รองจาก เยอรมนี ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา ตามลำดับ ส่วนประเทศแคนาดาถือเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย โดยไทยมีการผลิตสินค้าประเภทอาหารสัตว์เลี้ยงส่งออกไปยังแคนาดามาตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ สำหรับอาหารสัตว์เลี้ยงที่ปริมาณการส่งออกไปยังแคนาดาสูงสุด ได้แก่ อาหารสัตว์เลี้ยงในภาชนะบรรจุปิดสนิท อาหารเม็ด และขนมขบเคี้ยว ตามลำดับ โดยปริมาณการส่งออกรวมในปี ๒๕๖๐ นี้ ประมาณ ๓,๕๐๐ ตัน คิดเป็นมูลค่า ๔๖๐ ล้านบาท
"ปัจจุบันมีโรงงานผลิตอาหารสัตว์ที่กรมปศุสัตว์ให้การรับรองและอยู่ในบัญชีที่สามารถส่งออกไปยังแคนาดาได้ จำนวน ๑๗ โรงงาน และหลังจากเสร็จสิ้นการตรวจรับรอง คาดว่าจะมีโรงงานผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงที่ได้รับการรับรองจาก CFIA เพิ่มเติมอีกอย่างน้อย ๖โรงงาน รวมเป็น ๒๓ โรงงาน จะส่งผลให้ปริมาณเพิ่มขึ้นอีก ๗๐๐ ตัน คิดเป็นมูลค่าที่เพิ่มขึ้นราว ๑๐๐ ล้านบาทต่อปี" รองอธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าว