หม่อมหลวง ปนัดดา ดิศกุล อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ประธานในพิธีเปิดงานสังคม สุขใจ"อาหารปลอดภัย พาชุมชนไทยยั่งยืน" กล่าวว่า เป็นที่น่ายินดีที่ทุกภาคส่วนตื่นตัว หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องอาหารปลอดภัย พร้อมใจกันจัดงานสังคมสุขใจขึ้นต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 4 และขอชื่นชมมูลนิธิสังคมสุขใจ ที่ขับเคลื่อนสามพรานโมเดล มาถึงจุดของการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ บนพื้นฐานของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติให้เติบโตและก้าวหน้าอย่างยั่งยืน ในจังหวัดนครปฐมและใกล้เคียง โดยพัฒนาทั้งโซ่อุปทาน ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ขับเคลื่อนแบบบูรณาการความช่วยเหลือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ท้องถิ่น มหาวิทยาลัย โรงเรียนในพื้นที่ และภาคเอกชน บนพื้นฐานของธุรกิจที่เป็นธรรม ถือว่าเป็นต้นแบบของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากเชื่อมโยงสังคมแบบใหม่อย่างยั่งยืนผ่านโซ่อุปทานอาหารอินทรีย์ นับเป็นการแก้ไขปัญหาของประเทศในทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยวและสุขภาพของประเทศ ซึ่งต้องขอบคุณ ททท. ที่มาร่วมขับเคลื่อน ทำให้เรื่องวิถีชุมชน วิถีเกษตรอินทรีย์ ได้รับการต่อยอด เกิดเป็นการท่องเที่ยวชุมชนที่มีคุณค่า และเป็นเสน่ห์
นายภิญโญ ประกอบผล รองผู้ว่าราชการ จังหวัดนครปฐม กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้ก่อเกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อชาวนครปฐม ซึ่งไม่เฉพาะเปิดโอกาสให้เกษตรกรผู้ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ได้นำผลผลิตมาจำหน่าย และได้เก็บเกี่ยวองค์ความรู้ต่างๆ ที่ช่วยส่งเสริมการเพาะปลูกเกษตรระบบอินทรีย์ แต่ยังกระตุ้นผู้บริโภคให้เกิดความตื่นตัวหันมาใส่ใจสุขภาพ เลือกบริโภคอาหารปลอดภัยให้มากขึ้น เพื่อให้เกษตรกรซึ่งเป็นแหล่งต้นทางการผลิตทำหน้าที่ผลิตเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนอยู่ได้อย่างยั่งยืน ไม่เฉพาะจังหวัดนครปฐมเท่านั้น แต่ยังสามารถขยายวงกว้างในทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย
นายอรุษ นวราช เลขานุการมูลนิธิสังคมสุขใจ ในฐานะประธานจัดงานสังคมสุขใจ เปิดเผยว่า งานสังคมสุขใจปีนี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด "อาหารปลอดภัย พาชุมชนไทยยั่งยืน" โดยความร่วมมือระหว่างมูลนิธิสังคมสุขใจ ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และเครือข่ายภาคี เกษตรกร เพื่อต้องการสื่อสารไปยังผู้บริโภคให้ตื่นตัวเป็น Smart Consumer คือ รู้เท่าทัน ฉลาดเลือก และมีความรับผิดชอบต่อสังคม พร้อมที่จะลุกขึ้นมาเป็น Change Agent สร้างการเปลี่ยนแปลงร่วมกันสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืน จากบรรยากาศของการจัดงานในปีนี้ผู้บริโภคตื่นตัวมาร่วมงานกันอย่างคึกคัก และเพิ่มปริมาณขึ้นทุกปี หลายคนมาตั้งแต่ครั้งแรก ปีนี้ก็มาอีก ถามไถ่ให้กำลังใจ อุดหนุนสินค้าของเกษตรกรอย่างเต็มใจ ขณะที่เกษตรกรเองใช้โอกาสนี้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน บรรยากาศเหล่านี้พิสูจน์ให้เห็นว่าเราเดินมาถูกทาง ผู้บริโภคยังมีความต้องการ เรื่องอาหารปลอดภัย เรื่องวิถีชุมชน เรื่องการท่องเที่ยวชุมชนอีกมากมาย ข้อมูลจากผู้บริโภคทำให้เกษตรกร ได้รู้ถึงปัญหา และโอกาส เพื่อพัฒนาแปลงปลูก ผลผลิต รวมถึงการแปรรูปให้ดียิ่งขึ้นไปอีก
"ขอบคุณ ททท. ภาคีเครือข่าย รวมถึงเกษตรกร ที่ร่วมกันจัดงานครั้งนี้ จนเกิดผลสำเร็จอย่างดียิ่ง ทุกกิจกรรมได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ทั้งมุมความรู้ เวทีเสวนา หรือสินค้าเกษตรอินทรีย์ ทั้งสด และแปรรูป ก็ขายดิบขายดี ผมดีใจที่งานดังกล่าว ก่อให้เกิดประโยชน์กับทุกภาคส่วน การจัดงานในแต่ละปี ทำให้เราได้เรียนรู้มากมาย ซึ่งจะได้นำไปปรับ เพื่อพัฒนางานของมูลนิธิสังคมสุขใจ และสามพราน ริเวอร์ไซด์ ให้ดีและก้าวหน้าขึ้นไปอีก" นายอรุษ กล่าว
นางสาวยุพา ปานรอด ผู้อำนวยการฝ่ายกิจกรรม ผู้แทนผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า งานสังคมสุขใจ อาหารปลอดภัย พาชุมชนไทยยั่งยืน เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการท่องเที่ยววิถีชุมชน วิถีเกษตรอินทรีย์ ทั้งยังเป็นการยกระดับมาตรฐานคุณภาพผลผลิตและอาหารไทย อันจะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดัน และสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหาร (Gastronomy Tourism) ตามนโยบายที่ ททท. ได้กำหนดเป้าหมายในการผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็น "เมืองหลวงอาหารแห่งเอเชีย" Gastronomy Capital of Asia โดย ททท.ได้ตั้งเป้าหมายให้ปี 2561 นักท่องเที่ยวมีการใช้จ่ายด้านอาหารเพิ่มขึ้นเป็น 25% จากรายได้ด้านการท่องเที่ยวทั้งหมด หรือ คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 7.5 แสนล้านบาท ของรายได้ปี 2561 ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่ารวมกว่า 3 ล้านล้านบาท
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หนึ่งในองค์กรที่ให้การสนับสนุนการขับเคลื่อนสามพรานโมเดล มาอย่างต่อเนื่อง กล่าวว่า สามพรานโมเดลถือเป็นต้นแบบของชุมชนอาหารอินทรีย์ที่ประสบความสำเร็จ ทำให้เกิดห่วงโซ่ของความปลอดภัยตั้งแต่ผู้ผลิตไปจนถึงผู้บริโภค เกษตรกรอยู่ได้ ราคาผลผลิตไม่แพง ผู้บริโภคได้รับสุขภาพที่ดี ขณะเดียวกันการจัดงานสังคมสุขใจเป็นต้นแบบของการรวมกลุ่มเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเป็นการพบกันระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค ทั้งนี้ จังหวัดนครปฐมเป็น 1 ใน 5 พื้นที่ต้นแบบโครงการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ระบบอาหารเพื่อสุขภาพประชาชน ของสสส. และสสส. มีเป้าจะขยายเพิ่มอีกใน 50 พื้นที่อีกด้วย
ในด้านความโดดเด่นของงานสังคมสุขใจปีนี้ มีกระแสตอบรับจากคนรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมงานอย่างคึกคัก ทุกกิจกรรมได้รับความสนใจเป็นอย่างล้นหลาม โดยเฉพาะมุม Cooking class workshop ที่เชฟตาม (ชุดารี เทพาคำ) เจ้าของรางวัล Top Chef Thailand สาธิตการทำอาหารเมนูพิเศษด้วยวัตถุดิบอินทรีย์ พร้อมจัดให้ชิมกันในงาน และมุม Amazing Thai Taste Station ของททท. ที่ผู้คนต่างสนุกกับการลิ้มรสอาหารไทยสุด Amazing ขณะที่มุมนิทรรศการ 10 ชุมชนอาหารเด็ด ที่เที่ยวดัง และจุดลงทะเบียนรับฟรีผักสวนครัวอินทรีย์ ก็ได้รับความสนใจไม่น้อย นอกจากนี้ยังมุมเวิร์คช็อปเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจร มุมแนะนำเส้นทางท่องเที่ยวสวนเกษตรอินทรีย์ รวมถึงมุมบริการตรวจเลือดหาสารเคมีตกค้างในร่างจากสาธารณสุขจังหวัดนครปฐม มีสนใจเข้ารับบริการกันอย่างคึกคักเช่นกัน ขณะเดียวกัน สินค้าเกษตรอินทรีย์ ทั้งผักสด ผลไม้ ผลิตภัณฑ์แปรรูป ที่จำหน่ายกันในราคาที่เป็นธรรมยังคงได้รับการตอบรับที่ดีเยี่ยมขายดิบขายดีทุกรายการ
ส่วนด้านหน้าเวทีเสวนา บรรดาสาวกคนต้นแบบวิถีอินทรีย์ต่างจับจองเต็มพื้นที่ เพื่อเก็บเกี่ยวความรู้ เติมแรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิตให้กับตัวเอง โดยปีนี้ มีคุณโจน จันใด ผู้ก่อตั้งศูนย์พันพรรณ คุณวิฑูรย์ เรืองเลิศปัญญากุล ผู้อำนวยการ Greennet คุณนคร ลิมปคุปตถาวร ผู้ก่อตั้งศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมือง และพระอาจารย์มหาสุภาพ พุทธวิริโย เจ้าอาวาสวัดป่านาคำ จ.กาฬสินธุ์ พระผู้น้อมแนวพระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่เกษตรพอเพียงขับเคลื่อนชุมชนกว่า 20 ปี มาร่วมถ่ายทอดความรู้ บอกเล่าศรัทธา ความสำเร็จในมิติต่างๆ
อนึ่ง งานสังคมสุขใจ จัดขึ้นเป็นพิเศษ ปีละครั้งเท่านั้น...!!! โดยมูลนิธิสังคมสุขใจและภาคีเครือข่าย สำหรับผู้สนใจต้องการเชื่อมโยง ศึกษาดูงานการขับเคลื่อนสามพรานโมเดล โมเดลธุรกิจที่ยั่งยืน บนพื้นฐานธุรกิจที่เป็นธรรม ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า ติดต่อขอรายละเอียดได้ มูลนิธิสังคมสุขใจ โทร 034-322588-93 หรือ Facebook/สามพรานโมเดล