- ดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้า (กุมภาพันธ์ 2561) อยู่ที่ 150.81 อยู่ในเกณฑ์ "ร้อนแรง" (Bullish) (ช่วงค่าดัชนีระหว่าง 120 - 160) ปรับตัวลดลง 9.02% จากเดือนที่ผ่านมาที่ 165.77
- ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนปรับตัวลดลง โดยกลุ่มบัญชีนักลงทุนต่างประเทศยังคงอยู่ที่ระดับร้อนแรงอย่างมาก ขณะที่กลุ่มสถาบันภายในประเทศ กลุ่มนักลงทุนรายบุคคลและกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับตัวลดลง อยู่ที่ระดับร้อนแรง
- หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดการท่องเที่ยวและสันทนาการ (TOURISM)
ส่วนหมวดธุรกิจการเกษตร (AGRI) เป็นหมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด
- ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ ภาวะเศรษฐกิจในประเทศ
ขณะที่ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ การเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ
"ภาวะการลงทุนในเดือนพฤศจิกายน ดัชนีตลาดหุ้นไทยมีการเคลื่อนไหวในลักษณะแกว่งตัวอยู่ในกรอบขึ้นลงช่วงใกล้เคียง 1700 จุด ในลักษณะพักฐานการลงทุน อย่างไรก็ตามจากปัจจัยหนุนจากตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในไตรมาส 4 ที่มีขยายตัว 4.3% สูงสุดในรอบ 18 เดือน โดยตัวเลขการส่งออกมีเติบโตอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การลงทุนภาคเอกชน การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น แม้ว่าการลงทุนภาครัฐในช่วงนี้จะหดตัวลงก็ตาม ทำให้ความเชื่อมั่นนักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในระดับร้อนแรง สำหรับปัจจัยต่างประเทศมีปัจจัยหนุนจากตลาดหุ้นของสหรัฐยังมีการเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยความคืบหน้าของแผนปฏิรูปภาษีและการคาดการณ์นโยบายทางการเงินของประธานคณะกรรมการนโยบายทางการเงินของสหรัฐคนใหม่ในการทยอยขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ภาวะเศรษฐกิจยุโรปมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยหนุนจากภาคการบริโภคยังอยู่ในระดับที่ดีและการส่งออกมีแนวโน้มเติบโตดี เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีการเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยนโยบายผ่อนคลายทางการเงินยังคงดำเนินการต่อไป อย่างไรก็ตามปัจจัยที่ต้องจับตามองจากประเทศจีนหลังสิ้นสุดการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน รัฐบาลจีนกลับมาดำเนินนโยบายทางการเงินที่เข้มงวดขึ้น เพื่อควบคุมปัญหาหนี้ในระบบที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงความเคลื่อนไหวที่ยังคงมีอยู่จากความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลีที่เป็นปัจจัยลบในการลงทุนแม้ว่าตลาดจะไม่ได้ตอบสนองมากนักก็ตาม"
ดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Expectation Index) เดือนธันวาคม 2560
"ผลจากดัชนีคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะทรงตัวที่ระดับ 1.50% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี และ 10 ปี มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ปัจจัยหลักมาจากอุปสงค์ อุปทานในตลาดตราสารหนี้ การขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของเศรษฐกิจไทย และการคาดการณ์การพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ"
นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Expectation Index) เดือนธันวาคม 2560 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
- ดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม กนง. รอบเดือนธันวาคมนี้ อยู่ที่ระดับ 50 สะท้อนความเชื่อมั่นของตลาดว่า กนง.จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% ในการประชุมครั้งหน้า โดยให้น้ำหนักในปัจจัยหลัก 3ประการ ได้แก่ 1) อัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำ 2)เศรษฐกิจไทย และ 3) อัตราดอกเบี้ยของตลาดการเงินโลก
- ดัชนีคาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 5 ปี และ 10 ปี ในช่วงประชุม กนง. รอบเดือนกุมภาพันธ์ 2561 (ประมาณ 11 สัปดาห์ข้างหน้า) อยู่ที่ระดับ 83 ทั้งคู่ ซึ่งลดลงจากครั้งที่แล้ว (ระดับ 86 และ 89 ตามลำดับ) โดยดัชนียังคงอยู่ในระดับที่สะท้อนถึงทิศทางที่เพิ่มขึ้น โดยผู้ตอบแบบสำรวจให้ความสำคัญใน 4 ปัจจัยหลัก คือ 1)อุปสงค์ อุปทานในตลาดตราสารหนี้ไทย 2)การคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ 3)อัตราเงินเฟ้อของไทย 4)การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย