แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย
เมื่อไม่นานมานี้ มีกระแสข่าวเรื่องโรคแอนแทรกซ์ (anthrax) เกิดขึ้นที่ประเทศไทย โดยโรคแอนแทรกซ์ จัดเป็นโรคระบาดสำคัญโรคหนึ่งที่เกิดขึ้นกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมโดยเฉพาะในสัตว์กินพืช เช่น โค กระบือ แล้วติดต่อไปยังคนและสัตว์ชนิดอื่น เช่น สุนัข แมว สุกร การเกิดโรคในคนจะเกิดได้ 3 ระบบ คือ ผิวหนัง ระบบทางเดินหายใจ และระบบทางเดินอาหาร เนื่องจากวัคซีนและยาปฏิชีวนะในปัจจุบัน มีการพัฒนาก้าวหน้าเป็นอย่างมาก ส่งผลให้การเกิดโรคและการระบาดลดลง การพบโรคในปัจจุบันจึงมักเกิดจากการถูกนำมาใช้เป็นอาวุธชีวภาพเป็นส่วนใหญ่ สาเหตุของโรคนี้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย บาซิลลัส แอนทราซิส (Bacillus anthracis) โดยเมื่ออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมเชื้อจะสร้างสปอร์ป้องกันตนเองทำให้มีความทนทานต่อสภาวะแวดล้อมเป็นอย่างมาก สามารถอยู่ในธรรมชาติได้นานเป็นสิบปี โรคนี้ติดต่อสู่คนได้ทางการสัมผัสกับสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่เป็นโรค การติดต่อที่ผิวหนังเกิดจากเชื้อเข้าสู่ผิวหนังที่มีรอยถลอกหรือบาดแผล การติดต่อทางระบบทางเดินหายใจเกิดจากการหายใจเอาสปอร์เชื้อโรคเข้าไป และทางระบบทางเดินอาหารเกิดจากการรับประทานเนื้อสัตว์ที่เป็นโรคนี้ ซึ่งหลังจากได้รับเชื้อแล้วจะใช้เวลา 1 ถึง 7 วัน จึงจะแสดงอาการของโรค หากเป็นการรับเชื้อโดยหายใจเอาสปอร์ของเชื้อที่มาจากอาวุธชีวภาพ อาจมีระยะฟักตัวได้นานถึง 60 วัน
อาการแสดงของโรคแอนแทรกซ์ที่เกิดในคนพบได้ 3 ลักษณะ คือ โรคแอนแทรกซ์ของผิวหนัง, โรคแอนแทรกซ์ของระบบทางเดินหายใจ และโรคแอนแทรกซ์ของระบบทางเดินอาหาร โดย 1. โรคแอนแทรกซ์ของผิวหนัง32เกิดจากการมีบาดแผลที่ผิวหนังแล้วไปสัมผัสกับเชื้อแอนแทรกซ์ ผู้ป่วยจะมีอาการเริ่มแรกเป็นตุ่มแดงมีอาการคัน ใน 2-3 วันถัดมาจะบวมและกลายเป็นตุ่มหนองและตุ่มน้ำใส จากนั้นจะมีสีม่วงคล้ำ ตุ่มพองที่แตกออกตรงกลางแผลจะกลายเป็นสะเก็ดสีดำ (eschar) ต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงจะเจ็บและบวมแดง อาจมีไข้หรือไม่มีไข้ร่วมด้วย รอยโรคอาจลุกลามเกิดเป็นตุ่มน้ำออกไปโดยรอบและเปลี่ยนเป็นสีคล้ำตามมา โดยตำแหน่งที่พบได้บ่อย คือบริเวณที่มีโอกาสสัมผัสกับสิ่งต่าง ๆ ได้ง่าย เช่น นิ้ว มือ แขน และขา หากแผลลุกลามโดยไม่ได้รับการดูแลที่ดีอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดอื่นซ้ำซ้อน 2. โรคแอนแทรกซ์ของระบบทางเดินหายใจ32เกิดจากการหายใจเอาสปอร์ของเชื้อแอนแทรกซ์เข้าไป เมื่อเข้าสู่ร่างกายเชื้อจะแบ่งตัวและแพร่เข้าสู่ระบบหมุนเวียนเลือด ในระยะแรกผู้ป่วยจะมีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ ไอ มีอาการคล้ายไข้หวัด ต่อมาจะเริ่มมีอาการหายใจลำบาก เหนื่อย หากได้รับการรักษาที่ล่าช้าจะมีอาการทางปอดรุนแรงจนมีระบบการหายใจล้มเหลวได้ โดยอาการจะรุนแรงและรวดเร็ว และ 3. โรคแอนแทรกซ์ของระบบทางเดินอาหาร32เกิดจากการรับประทานเนื้อสัตว์ที่มีเชื้อแอนแทรกซ์ปนเปื้อน32เมื่อเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายจะแบ่งตัวและทำให้เกิดรอยโรคบริเวณกระเพาะอาหารและลำไส้ ผู้ป่วยจะมีอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลวและอาจมีมูกเลือดปน ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการขาดน้ำอย่างรุนแรงได้
การวินิจฉัยโรคทำได้โดย ตรวจสอบจากประวัติการสัมผัสโรคและตรวจร่างกาย ร่วมกับการนำสิ่งส่งตรวจจากแผลที่ผิวหนัง เสมหะ หรืออุจจาระ ส่งย้อมเพื่อดูเชื้อโรคและเพาะเชื้อ รวมถึงการเพาะเชื้อจากเลือดของผู้ป่วย การรักษาโรคทำได้โดย ใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งสามารถใช้ได้หลายชนิดและมีประสิทธิภาพดี ยาที่ใช้ในการรักษาได้แก่ เพนนิซิลิน สเตรพโตมัยซิน เตตร้าไซคลิน อีรีโทรมัยซิน และคลอแรมเฟนนิคอล ส่วนการป้องกันโรคสามารถทำได้โดยการฉีดวัคซีน โดยร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันหลังจากฉีดประมาณ 3 สัปดาห์ หากเป็นกรณีอาวุธชีวภาพสามารถสวมหน้ากากป้องกันก๊าซพิษเพื่อป้องกันระบบทางเดินหายใจได้
หากผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะอย่างรวดเร็ว จะรักษาโรคได้โดยง่าย แต่หากไม่รักษา โรคแอนแทรกซ์ที่ผิวหนัง จะมีอัตราการตายประมาณ 20% โดยเกิดจากเชื้อแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด หากเป็นที่ระบบทางเดินหายใจจะมีอัตราการตายเกือบ 100% โดยมักเกิดจากวินิจฉัยโรคได้ช้าและอาการระบบทางเดินหายใจล้มเหลวรุนแรง สำหรับระบบทางเดินอาหารผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรงจากภาวะช๊อคจากการขาดน้ำอย่างรุนแรง คำแนะนำสำหรับการดูแลเบื้องต้นด้วยตนเอง หากสงสัยว่าอาจเป็นโรคแอนแทรกช์ควรไปพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยโดยเร็ว หากพบว่ามีการติดเชื้อนอกจากทำการรักษาโรคโดยยาปฏิชีวนะแล้ว จะต้องป้องกันผู้ป่วยเพื่อลดการติดต่อโรคสู่ผู้อื่น และรายงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสอบสวนหาแหล่งเกิดโรคโดยเร็วที่สุด