รมช.เกษตรฯ เปิดงานสรุปผล “รวมพลังตามรอยพ่อฯ” ปี 5 เชฟรอน-สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง-สจล. ผนึกภาคีทุกภาคส่วน ส่งต่อแรงบันดาลใจ ชวนคนเมืองตามรอยศาสตร์พระราชา

อังคาร ๑๙ ธันวาคม ๒๐๑๗ ๑๕:๔๕
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีงานสรุปผลโครงการ "พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน" ปี 5 โดยมี บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับ สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) พร้อมพันธมิตรทุกภาคส่วน จัดขึ้นเพื่อแถลงผลสำเร็จของโครงการฯ ภายใต้แนวคิด "แตกตัวทั่วไทย เอามื้อสามัคคี" ผ่านการจัดกิจกรรมเอามื้อสามัคคี หรือ การลงแขกใน 4 พื้นที่เป้าหมาย เพื่อสร้างต้นแบบความสำเร็จในลุ่มน้ำต่างๆ ซึ่งมีสภาพภูมิสังคมที่แตกต่างกัน ตามแนวทางศาสตร์พระราชา และภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยนำบทสรุปของโครงการตลอด 5 ปี มาร่วมแบ่งปันแรงบันดาลใจและส่งต่อองค์ความรู้ ให้คนเมืองได้ตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาหยุดท่วม หยุดแล้งอย่างยั่งยืน เพื่อร่วมกันสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้านการจัดการ ดิน-น้ำ-ป่า-คน ให้คงอยู่ต่อไป ณ ศูนย์การค้าเดอะมอลล์ บางกะปิ เมื่อเร็วๆ นี้

ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า "โครงการ 'พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน' ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2556 โดยได้รับแรงบันดาลใจจากกระแส

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงห่วงใยต่อปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งบริเวณลุ่มน้ำป่าสัก จึงเกิดการร่วมมือกันของ 7 ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ภาคศาสนา และสื่อมวลชน เพื่อรณรงค์ให้ความรู้และสร้างความตระหนักแก่ประชาชนถึงความสำคัญในการฟื้นฟูและพัฒนาลุ่มน้ำป่าสัก ด้วยแนวทางศาสตร์พระราชาทั้งในเรื่องของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่ ภายใต้แนวคิดโคก หนอง นา โมเดล ตามลักษณะภูมิสังคมและภูมิปัญญาท้องถิ่น สู่การแก้ปัญหา หยุดท่วม-หยุดแล้งในลุ่มน้ำป่าสักอย่างยั่งยืน ทั้งมุ่งหวังให้ลุ่มน้ำป่าสักเป็น 'ต้นแบบ' ในการจัดการดิน น้ำ ป่า ให้เกิดการขยายผลไปยังลุ่มน้ำต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งโครงการฯ ได้ดำเนินงานมาจนถึงปีที่ 5 จากที่มีเป้าหมายรวม 9 ปี เกิดผลสัมฤทธิ์ที่น่าพึงพอใจ สามารถรณรงค์เผยแพร่องค์ความรู้ศาสตร์พระราชาออกไปตามพลวัตรการขับเคลื่อนของโครงการฯ สร้างคนมีใจ สร้างเครือข่ายที่เข้มแข็ง จนสามารถสร้างเป็นศูนย์การเรียนรู้ศาสตร์พระราชาในหลายภูมิภาคมากขึ้นเรื่อยๆ จนขณะนี้โครงการฯ สามารถขยายเครือข่ายออกไปถึง 24 ลุ่มน้ำแล้ว เป้าหมายคือ ครอบคลุม 25 ลุ่มน้ำทั่วประเทศไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาครัฐและภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือร่วมใจกันผลักดันต่อไป เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการหยุดท่วม-หยุดแล้งอย่างยั่งยืนทั่วประเทศ"

นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า "โครงการฯ ในปีที่ 5 ดำเนินงานภายใต้แนวคิด 'แตกตัวทั่วไทย เอามื้อสามัคคี' โดยนำวิถีดั้งเดิม 'เอามื้อสามัคคี' หรือ ลงแขกตามประเพณีไทย ซึ่งเป็นการรวมพลังผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปในพื้นที่ต่างๆ ทำให้ได้ทั้งแรงงานและการแลกเปลี่ยนความรู้ มีเป้าหมายจัดกิจกรรมตามแนวคิด 'โคก หนอง นา' โมเดล ใน 4 พื้นที่ 4 จังหวัด ก็เพราะต้องการให้แต่ละพื้นที่เป็นต้นแบบในแต่ละภาคและแต่ละภูมิสังคม อย่าง สจล. คือ ตัวแทนภาคกลาง ตัวอย่างการทำเกษตรในเมือง, ราชบุรี คือ ตัวแทนภาคตะวันตก เครือข่ายลุ่มน้ำแม่กลอง คนเมืองหลวงที่หันเหไปทำการเกษตร, อุดรธานี คือ ตัวแทนภาคอีสาน เครือข่ายลุ่มน้ำชี เป็นพื้นที่ลูกรัง และเป็นเกษตรกรโดยสายเลือด, และเชียงใหม่ คือ ตัวแทนภาคเหนือ ในพื้นที่ภูเขาและมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ซึ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีจำนวนทั้งสิ้นกว่า 2,000 คน โดยตลอดระยะเวลา 5 ปี ของการดำเนินโครงการฯ เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นทุกปีว่าศาสตร์พระราชาช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง แก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคม และทำให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เชฟรอนจึงยังคงมุ่งมั่นจะสืบสานพระราชปณิธานต่อไป เพราะเหมาะสมกับบริบทสังคมไทยและตอบโจทย์ การพัฒนาที่ยั่งยืน"

"นอกจากนี้ เชฟรอนและพันธมิตรโครงการฯ ยังคงทำงานตลอดทั้งปี เพื่อขับเคลื่อนขยายผลโครงการฯ และเผยแพร่องค์ความรู้ตามแนวทางศาสตร์พระราชา ในอีก 2 โครงการหลักๆ คือ โครงการ 'ฟื้นฟูลุ่มน้ำป่าสักตามรอยพ่อ' โดยร่วมมือกับมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติและสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ความรู้แก่ชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสัก ด้วยการจัดอบรมวิทยากรและพัฒนาแกนนำ รวมถึงบุคคลทั่วไปที่ให้ความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ในเรื่องหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการฝึกอาชีพเสริม พร้อมทั้งสนับสนุนการสร้างอาคารเรียนและหอพักให้กับโรงเรียนปูทะเลย์มหาวิชชาลัย ส่วนอีกโครงการ คือ จัดทำ 'โครงการวิจัยการออกแบบเชิงภูมิสังคมไทย การติดตามและประเมินผลเพื่อบริหารจัดการน้ำชุมชนอย่างมีส่วนร่วม' โดยร่วมมือกับศูนย์บูรณาการเทคโนโลยีเพื่อการแก้ไขปัญหาประเทศ สจล. (ITOKmitl) เพื่อจัดเก็บข้อมูลที่ได้มีการออกแบบและปรับปรุงพัฒนาพื้นที่ตามศาสตร์พระราชาด้านการจัดการดิน น้ำ และป่า ใน 3 พื้นที่ คือ จังหวัดลำปาง จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดตาก รวม 300 ไร่ ให้เป็นไปอย่างมีระบบและได้มาตรฐานทางวิชาการ สามารถนำฐานข้อมูลมาประมวลผลได้ครบทุกมิติ ทั้งมิติทางเศรษฐกิจ มิติทางสังคม และมิติทางสภาพแวดล้อม" นายอาทิตย์กล่าวเสริม

ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. หนึ่งในภาคีเครือข่ายภาควิชาการ กล่าวว่า "การไปเอามื้อสามัคคีใน 4 พื้นที่ จะเห็นได้ว่า แต่ละพื้นที่นั้นมีความแตกต่างกันกันอย่างชัดเจน ทั้งด้านสภาพดิน น้ำ อากาศ และสภาพภูมิสังคมโดยรอบ รวมถึงเจ้าของพื้นที่ต้นแบบเองก็มีอาชีพ และพื้นฐานทางการเกษตรที่แตกต่างกัน แต่ทุกๆ พื้นที่สามารถใช้ศาสตร์พระราชาเข้าไปประยุกต์ เพื่อแก้ปัญหาในแต่ละพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม เริ่มจากเป้าหมายแรกที่กรุงเทพฯ ณ แปลงเกษตรสาธิต สจล. โดยมี ผศ.ดร.มลฑล แก่นมณี คณบดี คณะเทคโนโลยีการเกษตร สจล. เป็นแกนนำด้วยแนวคิด 'เพลิน แอเรีย' มาจากคำว่า PLAY+ LEARN คือ เล่นให้สนุกหรือทำกิจกรรมต่างๆ และเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับการทำเกษตรในเมืองตามศาสตร์พระราชาแก่ประชาชน โดยอนาคตจะให้พื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งผลิตอาหารปลอดภัยของ สจล. และจัดอบรมระยะสั้นๆ ด้วย ส่วนเป้าหมายที่ 2 คือ ไร่สุขกลางใจ ต.ป่าหวาย อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ของครูชัย - สุขะชัย ศุภศิริ ออกแบบโดยใช้แนวคิด 'คนเบื่อเมือง สู่วิถีกสิกรรมธรรมชาติ' เนื่องจากกลุ่มลุ่มน้ำแม่กลองเป็นคนที่ทำมาหากินอยู่ในเมือง แต่เบื่อเมืองและอยากจะกลับสู่วิถีธรรมชาติ ครูสุขะชัยก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่าง โดยพื้นที่นี้ส่วนใหญ่เป็นดินทราย แต่แปลงด้านล่างมีป่ากักเก็บน้ำดี จึงออกแบบดึงน้ำจากป่ากลับไปบนที่สูง นอกจากนั้น จะพิสูจน์ด้วยการสร้างแหล่งอาหารในพื้นที่ดินทราย โดยฟื้นที่นาปลูกข้าวด้วยการหมักดองดิน ถ้าเราทำพื้นที่ตรงนี้ให้เห็นเป็นตัวอย่างได้ ที่อื่นก็ฟื้นได้ และการที่เป็นครูทำให้มีทักษะถ่ายทอดความรู้ได้ดี สามารถสอนคนอื่นในแง่การฟื้นฟูพื้นที่ที่เสื่อมโทรมได้"

"เป้าหมายที่ 3 คือที่นาข้าวดินปนหินของลุงแสวง ศรีธรรมบุตร หรือลุงแสวงผู้มั่งคั่ง เครือข่ายสภาคริสตจักรนาเรียง ต.ตาดทอง อ.ศรีธาตุ จ.อุดรธานี ใช้แนวคิด 'การสร้างต้นแบบชาวบ้าน สู่ความร่วมมือ 7 ภาคี ด้วยพลังเอามื้อสามัคคี' ซึ่งกลุ่มคริสตจักรนาเรียงมีความเข้มแข็งร่วมกันต่อสู้กับความแห้งแล้งของธรรมชาติ ด้วยศาสตร์พระราชาในการจัดการน้ำ จนพื้นที่เกษตรที่เขียวชอุ่มอุดมสมบูรณ์ และเป็นการนำเสนอ 'คนต้นแบบ' ในลุ่มน้ำชี ซึ่งการปลูกเกษตรเชิงเดี่ยวในพื้นที่นาเรียง ก็เป็นปัญหาส่วนใหญ่ ของอีสาน จึงออกแบบเพื่อเปลี่ยนกระบวนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ให้เป็นโคก หนอง นา โมเดล ด้วยทำเกษตรเชิงเดี่ยวแบบผสมผสาน พิสูจน์ให้เห็นว่า ผลผลิตที่ได้จากไร่นาผสมผสานกลับมากกว่ากว่าพืชเชิงเดี่ยวเสียอีก ตรงนี้ก็จะค่อยๆ แก้ปัญหาได้ และเป้าหมายสุดท้าย คือ ที่ศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราช ดำริ(บวร.) นำโดย พระวีระยุทธ์ อภิวีโร (ครูบาจ๊อก) วัดพระบรมธาตุดอยผาส้ม บ.อมลอง ต.แม่สาบ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ผู้นำหลักแนวความคิด "บวร" ของพระบาท สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมาใช้ มีแนวคิด 'การต่อยอดสร้างพื้นที่ต้นแบบหลุมขนมครกบนพื้นที่สูง คนอยู่ ป่ายัง อย่างยั่งยืน' โดยสร้างต้นแบบบนพื้นที่สูงขนาด 5 ไร่ เพราะเดิมชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวปกาเกอะญอ ใช้พื้นที่หลายแปลงในการทำไร่หมุนเวียน แต่ปัจจุบันถูกจำกัดให้มีพื้นที่เหลือเพียงแปลงเดียว จึงต้องออกแบบเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าบนพื้นที่จำกัดก็สามารถทำให้ครอบครัวพอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น ให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน และแก้ปัญหารุกล้ำพื้นที่ป่า ทั้งนี้ การออกแบบพื้นที่โดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. ต้องคำนึงถึงความพร้อมของเจ้าของพื้นที่ ต้องมีความมุ่งมั่นทำตามศาสตร์พระราชาอย่างไม่ย่อท้อ มีความคิดริเริ่มและลงมือทำด้วยตนเองโดยไม่รอความช่วยเหลือจากภายนอกเพียงอย่างเดียว ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็มีความยากลำบากแตกต่างกัน เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าศาสตร์พระราชาแก้ปัญหาได้จริง และการนำเสนอตัวอย่างความสำเร็จในพื้นที่ต่างๆ นี้ จะทำให้เกิดการรับรู้และขยายผลมากยิ่งขึ้น" ผศ.พิเชฐ กล่าวเพิ่มเติม

อนึ่ง งานสรุปผลโครงการ "พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน"ปี 5 เปิดโอกาสให้คนเมืองได้เข้าร่วมกิจกรรมฟรี ณ แกรนด์ ฮอลล์ ชั้น G ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ บางกะปิ พร้อมชมนิทรรศการตัวอย่างความสำเร็จของบุคคลต้นแบบ และร่วมสนุกกับกิจกรรมสาธิตในวิถีเกษตรอินทรีย์และการแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อการพึ่งตนเอง โดยเฉพาะมีแขกรับเชิญพิเศษ อย่าง โจน จันใด มาสาธิตวิธีทำคอมบูชา นอกจากนั้น ยังมีผลิตผลจากเครือข่ายเกษตรกรในโครงการกว่า 40 ร้านค้า ทั้งข้าว ผักพื้นบ้าน ผลไม้ตามฤดูกาล อาหารแปรรูป อาหารพร้อมรับประทาน มาให้ชิม และช้อป สินค้าอุปโภคในครัวเรือนจากวัตถุดิบธรรมชาติ สินค้าเกษตร ต้นกล้า เมล็ดพันธุ์ ชุดเพาะผัก สินค้าหัตถกรรม มากมาย ผู้ที่สนใจสามารถชมภาพกิจกรรม ได้ที่ เฟซบุ๊ก "พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน"

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๒ ฉลองเทศกาลตรุษจีนปีงูเล็ก ที่โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท
๑๗:๐๐ IMPACT เผยปี 68 ข่าวดี! โครงการ Sky Entrance รถไฟฟ้าสายสีชมพูมาตามนัด หนุนทราฟฟิคแน่น - จับมือพาร์ทเนอร์
๑๗:๕๒ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สนับสนุนโครงการ กู้วิกฤตและอนุรักษ์พะยูน ครั้งที่ 2
๑๗:๕๘ แสนสิริ เจ้าตลาดคอนโดแคมปัส อวดโฉม ดีคอนโด วิวิด รังสิต คอนโดใหม่ตรงข้าม ม.กรุงเทพ
๑๖:๔๓ เอ็นไอเอ - สสส. ดึงนิวเจน สรรค์สร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ในแคมเปญ The Health Promotion INNOVATION PLAYGROUND
๑๗:๕๘ กรมวิทย์ฯ บริการ เร่งพัฒนาระบบ e-Learning ยกระดับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
๑๖:๕๘ เขตจตุจักรกวดขันคนไร้บ้านเชิงสะพานข้ามคลองบางซื่อ สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
๑๗:๑๗ เขตพระนครประสานกรมเจ้าท่า-เอกชน เร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเรือสุพรรณเดิม
๑๗:๔๐ กทม. กำชับเจ้าของอาคารตรวจสอบโครงสร้างบันไดเลื่อน เพิ่มความปลอดภัยประชาชน
๑๖:๓๗ แลกเก่าเพื่อโลกใหม่ ช้อปคุ้ม พร้อมลดหย่อนภาษี! 'เปลี่ยนของเก่าเป็นความคุ้ม' ผ่าน Easy E-Receipt ได้ที่โฮมโปร เมกาโฮม