Mr. Sunny George Verghese (ที่ 2 จากขวา) ประธานกลุ่มเจ้าหน้าที่บริหาร และ Mr. Shekhar Anantharaman (ขวา)
ประธานกลุ่มเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ ในพิธีลงนามการร่วมทุนในธุรกิจน้ำตาลกับโอแลม
32
กลุ่มมิตรผล ผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 4 ของโลก และอันดับ 1 ของเอเชีย จับมือกับบริษัท โอแลม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (โอแลม) ผู้นำด้านธุรกิจการเกษตรซึ่งดำเนินธุรกิจใน 70 กว่าประเทศทั่วโลก ประกาศความร่วมมือเพื่อลงทุนในธุรกิจน้ำตาลของโอแลมที่ประเทศอินโดนีเซีย
กลุ่มมิตรผล เข้าถือหุ้น 50% ในบริษัท ฟาร์อีสต์ อะกริ จำกัด ของโอแลม ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจโรงงานน้ำตาลรีไฟน์ในประเทศอินโดนีเชีย ภายใต้ชื่อ PT Dharmapala Usaha Sukses ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนกลางของเกาะชวา
"กลุ่มมิตรผล มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมลงทุนกับพันธมิตรทางธุรกิจที่มีประสบการณ์ในประเทศอินโดนีเซียอย่างโอแลม ประเทศอินโดนีเชียถือเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทยและออสเตรเลีย
อีกทั้งเรามีความเชื่อมั่นต่อศักยภาพของอุตสาหกรรมน้ำตาลในประเทศอินโดนีเซีย และมองเห็นแนวทางในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมในอนาคต ซึ่งจะเป็นกลยุทธ์สำคัญที่จะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำตาลของประเทศอินโดนีเซียให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น เราหวังอย่างยิ่งว่า กลุ่มมิตรผลจะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้ประเทศอินโดนีเซียสามารถผลิตน้ำตาลให้เพียงพอต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศ เราจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับทุกภาคส่วน ทั้งโอแลม หน่วยงานภาครัฐ เกษตรกร และผู้เกี่ยวข้อง" นายกฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มมิตรผล กล่าว
"นอกเหนือจากโรงงานน้ำตาลรีไฟน์ที่มีอยู่ 1 แห่งในปัจจุบันนั้น การขยายการลงทุนในโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ คาดว่าจะเป็นการพลิกโฉมอุตสาหกรรมน้ำตาลของประเทศอินโดนีเซีย อีกทั้งกลุ่มมิตรผล มีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์อันยาวนาน และยังมีวิสัยทัศน์เช่นเดียวกันกับโอแลม" นายโจ เคนนี กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจน้ำตาลและผลิตภัณฑ์จากนมของโอแลม กล่าวเสริม
สำหรับการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลทรายแห่งใหม่นี้ คาดว่าจะเสร็จพร้อมเปิดดำเนินการได้ภายในปีพ.ศ. 2563 โดยจะรับซื้ออ้อยจากชาวไร่อ้อยในพื้นที่ส่งเสริมรอบโรงงานได้ถึงปีละ 1.2 ล้านตัน
การร่วมทุนครั้งนี้ กลุ่มมิตรผล ยังคงให้ความสำคัญในการพัฒนาเกษตรกรชาวไร่อ้อย ด้วยการนำปรัชญาการดำเนินธุรกิจของกลุ่ม ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกันกับที่โอแลมนำมาใช้ดูแลเกษตรกรตลอดระยะเวลาการดำเนินธุรกิจในประเทศอินโดนีเซีย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539