นายสุรชัยได้กล่าวถึงความคืบหน้าในการร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการ
ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ที่ได้มีการนำเสนอหลักการใหม่ๆ เช่น การคุ้มครองพยานและกันบุคคลไว้เป็นพยาน การกำหนดความผิดฐานขัดขวางกระบวนการยุติธรรม และกลไกในการติดทรัพย์สินคืน ในต่างประเทศ รวมถึงการให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. และเจ้าหน้าที่ในการไต่สวนและแสวงหาข้อเท็จจริง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานและสอดคล้องกับอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต (United Nations Convention against Corruption: UNCAC) โดยประเทศไทยมีสถานะเป็นรัฐภาคีและ มีพันธกรณีในการอนุวัติการตามอนุสัญญาดังกล่าว ซึ่งความพยายามของประเทศไทยในการอนุวัติการ ตามอนุสัญญาฉบับนี้ ได้มีการแก้ไขกฎหมายภายในที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะองค์กรหลักในการต่อต้านการทุจริตได้เสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายมาแล้วในหลายประเด็น โดยประธานกรรมการ ป.ป.ช. ได้กล่าวขอบคุณสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในการตรากฎหมายที่เกี่ยวข้องและ การทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เช่น การกำหนดฐานความผิดสำหรับนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังได้มีการหารือเกี่ยวกับกลไกการประเมินติดตามการอนุวัติการตามอนุสัญญา
รอบที่ 2 ซึ่งเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยการประเมินในรอบที่ 2 นี้จะเป็นการประเมิน การอนุวัติการอนุสัญญา UNCAC ในหมวดที่ 2 (การป้องกันการทุจริต) และหมวดที่ 5 (การติดตามทรัพย์สินคืน) ในโอกาสนี้ ผู้แทน UNODC ได้แสดงความชื่นชมความพยายามของประเทศไทยในการพัฒนาปรับปรุงกฎหมายภายในเพื่อยกระดับการต่อต้านการทุจริต ซึ่งนับได้ว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่มีความก้าวหน้าอย่างมากในการอนุวัติการอนุสัญญา UNCAC และทาง UNODC ก็มีความยินดีและพร้อมที่จะทำงานร่วมกับประเทศไทยอย่างใกล้ชิดต่อไป