ผศ.ดร.นิวัต กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดการอบรมค่ายสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัว 2 และสร้างชิ้นงาน 3 มิติด้วย 3D-printer และค่ายออกแบบกิจกรรมบูรณาการ 2 : ฟิสิกส์, สมองกลฝังตัว ณ ศูนย์ภาษาและคอมพิวเตอร์ มรภ.สงขลา เมื่อเร็วๆ นี้ว่า เป็นการดำเนินงานภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏสนองพระราชดำริ : ไอซีทีส่งเสริมการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ภายใต้โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กับ มรภ.สงขลาทำร่วมกันไว้เมื่อปี 2558 โดยมุ่งเน้นพัฒนานักศึกษาครูและครูของโรงเรียนในท้องถิ่น ให้สามารถประยุกต์ใช้ไอซีทียกระดับคุณภาพการศึกษา ตลอดจนสร้างเครือข่ายนักการศึกษา เช่น อาจารย์ ครูที่จัดการเรียนรู้เชิงบูรณาการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และ คณิตศาสตร์ (STEM) ที่นักเรียนจะได้ค้นหาคำตอบและสร้างความรู้จากการปฏิบัติจริง ควบคู่กับการพัฒนาทักษะการคิด ตั้งคำถาม แก้ปัญหา หาข้อมูล วิเคราะห์ข้อค้นพบ และนำข้อค้นพบนั้นไปใช้กับชีวิตประจำวันได้
ผศ.ดร.นิวัต กล่าวว่า ขอบเขตการดำเนินงาน ประกอบด้วย 1. มหาวิทยาลัยดำเนินกิจกรรมไอซีทีส่งเสริมการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ได้แก่ การใช้ไอซีทีจัดการเรียนรู้แบบโครงการ (Project Based Learn using ICT) พัฒนาทักษะการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ควบคุมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ การสร้างชิ้นงาน 3 มิติด้วย 3D-printer เป็นต้น 2. มหาวิทยาลัยเผยแพร่กิจกรรมไอซีทีฯ โดยพัฒนานักศึกษาของตนเอง และครู นักเรียนจากโรงเรียนในท้องถิ่น ได้แก่ จัดอบรม/ค่ายวิชาการอย่างน้อย 70% ประยุกต์ใช้ไอซีทีจัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียนในโรงเรียนที่ฝึกสอน เป็นต้น 3. มีผลงานวิชาการ ได้แก่ กรณีตัวอย่าง/วีดิทัศน์การใช้ไอซีทีจัดการเรียนรู้ด้วยโครงการ หลักสูตรอบรบรมสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัว แบบปฏิบัติการสร้างชิ้นงาน 3 มิติ และ 4. พัฒนาบทเรียนบนระบบสื่อสาระออนไลน์เพื่อการเรียนรู้ทางไกลเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อย่างน้อย 1 หลักสูตร และเปิดบริการบทเรียนออนไลน์ฯ พร้อมทั้งฝึกภาคปฏิบัติให้แก่ครูในท้องถิ่น
ด้าน ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล กรรมการและรองเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า ทางมูลนิธิฯ ได้ดำเนินกิจกรรมค่ายสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัว และสร้างชิ้นงาน 3 มิติด้วย 3D-printer ภายใต้โครงการพัฒนาทักษะด้านอิเล็กทรอนิกส์และการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โดยจัดอบรม 3 ค่ายต่อเนื่องแล้วจัดให้มีกิจกรรม Show & Shareเพื่อให้นักเรียนจัดทำโครงงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนำเสนอเป็นประจำทุกปี พร้อมส่งเสริมให้ส่งโครงงานเข้าร่วมเวทีต่างๆ ผลงานที่เกิดขึ้นจะสร้างโอกาสให้นักเรียนได้ศึกษาต่ออุดมศึกษาในโควต้าพิเศษ โดยในปี 2560 มูลนิธิฯ ร่วมกับ มรภ.สงขลา จัดกิจกรรมให้กับนักเรียนและครูจากกลุ่มโรงเรียนในโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาของโรงเรียนในชนบท (ทสรช.) และโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม จำนวน 190 คน จาก 11 โรงเรียน
มรภ.