ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวถึง ประเด็นมาตรการหยุดกรีดยางในพื้นที่ของรัฐบาล 3 หน่วยงาน ได้แก่ การยางแห่งประเทศไทย กรมวิชาการเกษตร และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ จำนวนประมาณ 100,000 ไร่ ระหว่างเดือนมกราคม ถึงมีนาคม 2561 ซึ่งได้มีข้อเสนอให้รัฐบาลร่วมมือกับประเทศอินโดนีเซีย และมาเลเซีย ให้ช่วยดำเนินมาตรการหยุดกรีดยางในช่วงเวลาเดียวกันและปริมาณเท่ากันกับประเทศไทย จะเป็นการลดผลผลิตยางออกสู่ตลาด เพื่อกระตุ้นให้มีความต้องการใช้ยางเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ราคายางมีการขยับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย โดย กยท. ในฐานะตัวแทนประเทศไทยได้มีข้อตกลงร่วมกับสภาไตรภาคียางระหว่างประเทศ (ITRC) ประกอบด้วยประเทศไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ประชุมเมื่อวันที่ 27 – 30 พฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ในที่ประชุมมีการกำหนดมาตรการร่วมกันของประเทศผู้ผลิตยางรายใหญ่ของโลกทั้งการควบคุมการส่งออกยางปริมาณ 350,000 เมตริกตัน และการบริหารจัดการการผลิตของแต่ละประเทศ โดยการดำเนินการจะเป็นไปตามสัดส่วนของพื้นที่ปลูกแต่ละประเทศ เพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างความต้องการใช้และปริมาณการผลิตยางของโลก
สำหรับมาตรการของประเทศไทย จากการประชุม กนย. ครั้งที่ผ่านมา มีการเห็นชอบเสนอมาตรการและโครงการต่างๆ ทั้งโครงการสนับสนุนสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) วงเงิน 20,000 ล้านบาท จะช่วยดูดซับปริมาณยางออกจากระบบ โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง วงเงิน 15,000 ล้านบาท จะช่วยให้ผู้ประกอบกิจการยางขยายกำลังการผลิต จะใช้ยางในปริมาณเพิ่มมากขึ้น อย่างน้อย ประมาณ 35,550 ตัน/ปี และการรับซื้อยางจากเกษตรกร สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางจำนวน 2 แสนตัน เพื่อป้อนเข้าหน่วยงานรัฐในการนำไปใช้ภายในประเทศ รวมทั้ง โครงการควบคุมปริมาณผลผลิตที่มีมาตรการเร่งรัดการโค่นของภาคเกษตรกร และลดผลผลิตของหน่วยงานภาครัฐ ในช่วงเดือนมกราคม ถึง มีนาคม 2561 ล้วนเป็นแนวทางที่จะส่งเสริม และสนับสนุนการลดผลผลิตยางออกสู่ตลาด โดย กยท. จะเสนอให้ประเทศสมาชิก ITRC ทราบต่อไป เพื่อให้ปฏิบัติเป็นไปในทิศทางเดียวกัน หลังจากผ่านมติ ครม.เป็นที่เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะมีการประชุมร่วมกันในต้นเดือนหน้า ผู้ว่าการ กยท. กล่าวทิ้งท้าย