ผอ.ควบคุมโรค อุบลฯ เตือนโรคภัยที่มาในช่วงฤดูหนาว

อังคาร ๒๖ ธันวาคม ๒๐๑๗ ๑๗:๕๑
ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จ.อุบลราชธานี เตือน โรคภัยที่มาในช่วงฤดูหนาว โดยเฉพาะ 6 โรคสำคัญ

วันนี้ (26 ตุลาคม 2559) นายแพทย์ดนัย เจียรกูล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า ขณะนี้หลายพื้นที่ของภาคอีสานสภาพอากาศเริ่มเย็นลงและบางพื้นที่มีอากาศหนาวจัด ซึ่งความหนาวเย็นจะทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดี มีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นาน จึงเป็นสาเหตุทำให้เชื้อโรคแพร่ระบาดได้ง่าย สำหรับโรคที่มักเกิดในฤดูหนาว และพบได้บ่อย ได้แก่ โรคไข้หวัดใหญ่ โรคปอดบวม โรคหัด โรคสุกใส โรคมือ เท้า ปาก และโรคอุจจาระร่วง

นายแพทย์ดนัย กล่าวต่อไปว่า กลุ่มเสี่ยงที่อาจป่วยได้ง่ายในช่วงนี้คือ เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคเรื้อรังประจำตัว ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย เป็นต้น เนื่องจากมีภูมิต้านทานโรคต่ำ จึงติดเชื้อง่ายและอาการรุนแรงกว่าคนทั่วไป ดังนั้นจึงขอให้ผู้ที่มีความเสี่ยงป่วยง่ายไม่คลุกคลีใกล้ชิดและไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้ป่วยที่เป็นหวัด ไอ จาม เช่น ผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ จาน โดยเฉพาะครอบครัวที่มีเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ขอให้เพิ่มการดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ

จากรายงานการเฝ้าระวังโรคพื้นที่รับผิดชอบ ได้แก่ จ.อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ และมุกดาหาร พบว่า ตั้งแต่ต้นปี 60 เป็นต้นมา พบผู้ป่วยโรคไข้หวัด Influenza จำนวนทั้งสิ้น 9,796 ราย ไม่มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต ผู้ป่วยโรคปอดบวม 30,603 ราย มีรายงานผู้เสียชีวิต 1 ราย โรคหัด 78 ราย ผู้ป่วยโรค สุกใส 3,694 ราย พบผู้เสียชีวิต 1 ราย โรค มือ เท้า ปาก 4,753 ราย และผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วง จำนวนทั้งสิ้น 92,725 ราย ไม่มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต

โรคหัด เป็นไข้ออกผื่น ที่มักพบได้บ่อยในช่วงฤดูหนาว พบได้ทุกวัย แต่ที่พบบ่อยคือในเด็กเล็ก และสามารถติดต่อกันได้ง่าย โดยการไอ จาม หรือพูดกันในระยะใกล้ชิด อาการของโรคหัด เริ่มด้วยมีไข้ น้ำมูกไหล ไอ ตาแดง ตาแฉะ และกลัวแสง อาการต่างๆจะมากขึ้นพร้อมกับไข้สูงขึ้น การป้องกันโรคหัด ทำได้โดยการแยกผู้ป่วยที่สงสัยว่าเป็นโรคหัด หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วย และฉีดวัคซีนป้องกัน

นอกจากนี้ ในช่วงฤดูหนาวมักพบเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วง ซึ่งโรคนี้ติดต่อโดยการดื่มน้ำและกินอาหารที่มีเชื้อปนเปื้อน อาการจะเริ่มด้วยไข้หวัดก่อนแล้วมีอาการถ่ายเหลว โดยทั่วไปอาการจะไม่รุนแรงแต่อาจทำให้การเจริญเติบโตของเด็กหยุดชะงักไประยะหนึ่ง ด้านโรคมือ เท้า ปาก ส่วนใหญ่พบผู้ป่วยในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล สถานรับเลี้ยงเด็ก การติดต่อเกิดจากการได้รับเชื้อที่ปนเปื้อนในจากอุจจาระ หรือฝอยละออง น้ำมูกน้ำลาย น้ำในตุ่มพองหรือแผลของผู้ป่วยเข้าสู่ปาก

การป้องกันการเจ็บป่วยจากโรคต่างๆในฤดูหนาว สามารถป้องกันได้ด้วยการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง หมั่นออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาทีสัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง ดื่มน้ำสะอาด กินอาหารปรุงสุกใหม่ไม่มีแมลงวันตอม ใช้ช้อนกลางทุกครั้งเมื่อกินอาหารร่วมกับผู้อื่น และหมั่นล้างมือบ่อยๆด้วยน้ำและสบู่หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือเพื่อช่วยป้องกันการติดเชื้อ รวมถึงกินอาหารที่มีประโยชน์และเพิ่มผัก ผลไม้สดจะช่วยเพิ่มภูมิต้านทานโรคได้ และต้องนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง ไม่หักโหมทำงานหามรุ่งหามค่ำเนื่องจากจะทำให้เกิดความอ่อนเพลีย ควรอยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก หลีกเลี่ยงสถานที่มีคนแออัด นอกจากนี้ควรสวมเสื้อผ้าหนาๆหรือสวมเสื้อหลายๆชั้น เพื่อรักษาร่างกายให้อบอุ่น ที่สำคัญหากป่วยแล้วอาการไม่ดีขึ้นให้รีบพบแพทย์ หากประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ