อาจารย์ธีรบูลย์ ฉลองมณีรัตน์ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม กล่าวว่า "สถาปัตยกรรม อยู่บนพื้นฐาน ของ ความคิดสร้างสรรค์ + จินตนาการทิ่อิงอยู่กับเทคโนโลยี ที่สามารถทำได้จริง ไม่เพียงแค่การออกแบบสถาปัตยกรรมและออกแบบตกแต่งภายใน แต่สถาปัตยกรรมสอนให้ออกแบบทุกอย่างที่ผนวกสิ่งเหล่านี้เข้าด้วยกัน รวมถึงออกแบบ"ชีวิต" ดังนั้น หากคุณคิดว่า คุณ เป็น คนที่มีหรืออยากจะมี ความคิดสร้างสรรค์+จินตนาการและต้องการทำให้มันเป็นจริง สถาปัตยกรรมศาสตร์ คือศาสตร์ที่เหมาะกับคุณ ณ ปัจจุบันและอนาคต"
ดังนั้นการเรียนในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม จึงเน้นให้นักศึกษาได้เรียนรู้ และบูรณาการการเรียนรู้สู่การลงมือปฎิบัติงานจริง จึงได้ร่วมมือกับองค์กรภาครัฐและเอกชนต่างๆที่ขออนุเคราะห์ให้ทางคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เข้าร่วมบูรณาการเรียนรู้ในการพัฒนาพื้นที่ในชุมชนต่างๆ หลายชุมชน
และ ''งานพัฒนาพื้นที่สาธารณะ ชุมชนบ้านสวนร่วมพัฒนา'' ก็เช่นกัน โดยทางบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) ได้ขอความอนุเคราะห์ มายังคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ให้ดำเนินการออกแบบพื้นที่สาธารณะในชุมชนบ้านสวนร่วมพัฒนา ซึ่งเป็นชุมชนอยู่ในพื้นที่รอบโรงกลั่นน้ำมันบางจาก สุขุมวิท 62 และบริษัทฯ ได้มีโครงการร่วมกับชุมชนในด้านการดูแลรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง
ในการนี้ คณะสถาปัตย์ฯ SPU นำทีมโดย ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ อัศวโกวิทวงศ์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยบูรณาการภาพพื้นที่และสังคม ได้จัดโครงการโดยการบูรณาการการเรียนรู้กับรายวิชา สถาปัตยกรรม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม นำทีมนักศึกษาจำนวน 13 คน ลงพื้นที่เพื่อศึกษากายภาพ บริบทแวดล้อม และความต้องการของชุมชน ซึ่งรวมถึง เด็ก วัยรุ่น และผู้สูงอายุ ให้สามารถใช้พื้นที่ส่วนกลางของชุมชนซึ่งมีจำกัดให้เกิดประโยชน์บนความต้องการที่แตกต่างกัน พื้นที่ส่วนกลางมี 2 ส่วน ส่วนแรกมีความกว้าง 2 เมตร ความยาว 50 เมตร มีลำรางสาธารณะขนาดเล็กขนานโดยตลอด ส่วนที่สองเป็นพื้นที่ที่ต่อจากลานจอดรถซึ่งชาวบ้านไม่ต้องการให้พื้นที่จอดรถรุกล้ำไป
สรุปความต้องการคือ ชุมชนต้องการให้ปรับปรุงเป็นศาลาพักผ่อนและลานนั่งเล่น ซึ่งจะต้องไม่รุกล้ำลำรางสาธารณะและป้องกันอันตรายจากการพลัดตก ของเด็กและผู้สูงอายุ และ สร้างศาลาอเนกประสงค์ พร้อมห้องน้ำและห้องเก็บของ สำหรับทำกิจกรรมชุมชน รวมถึงปรับปรุงพื้นที่ว่างให้เป็นลานกีฬา
ที่ผ่านมาทีมนักศึกษาและอาจารย์ที่ปรึกษาได้นำเสนอแบบขั้นต้นเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากชุมชน นำมาพัฒนาต่อในขั้นรายละเอียด โดยให้นักศึกษาที่ศึกษาในรายวิชา สถาปัตยกรรม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม เป็นผู้รับผิดชอบ โครงการฯ โดยมีบริษัทบางจากฯให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเป็นจำนวนเงิน 50,000 บาท
โดยขณะนี้นักศึกษาได้จัดทำแบบและหุ่นจำลองซึ่งแสดงถึงแนวคิดและรายละเอียดของโครงการเป็นที่เรียบร้อย แบบประกอบด้วย ผังรวมพื้นที่สาธารณะ ศาลาพักผ่อนริมทางเดิน ลานกีฬา และศาลาอเนกประสงค์ จำนวน 2 ผลงาน เพื่อเตรียมนำเสนอและรับฟังความคิดเห็นจากชาวชุมชน ในราวต้นเดือน ธันวาคม 2560 นี้ ก่อนที่จะส่งมอบแบบทั้งหมดและหุ่นจำลอง ให้กับทางบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) นำไปพัฒนาเป็นแบบก่อสร้างและสนับสนุนในการจัดสร้างแก่ชาวชุมชนต่อไป และนี่คืออีกหนึ่งความภาคภูมิใจของสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ที่ได้มีส่วนช่วยเหลือและรับผิดชอบต่อสังคม อีกทั้งเป็นการตอบโจทย์การพัฒนาประเทศไทย สู่ยุค Thailand 4.0 อีกด้วย