นางสาวพรรรัตน์ เพชรภักดี รักษาการผู้อานวยการ สถาบันน้ำเพื่อความยั่งยืน เปิดเผยว่า ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล กรมทรัพยากรน้ำบาดาล โดยสถาบันน้ำเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ให้การสนับสนุนโรงงานอาหารแปรรูปซีพีเอฟ มีนบุรี 2 และโรงงานแปรรูปเนื้อไก่ซีพีเอฟ สระบุรี ให้เป็น 2 โรงงานนำร่องในการดำเนินโครงการประเมินการใช้น้ำบาดาลตลอดวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ หรือวอเตอร์ฟุตพริ้นท์ (Water Footprint) เพื่อส่งเสริมให้โรงงานอุตสาหกรรมสามารถประเมินปริมาณการใช้น้ำตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ โดยใช้หลักการประเมินวอเตอร์ฟุตพริ้นท์ ตามมาตรฐาน ISO 14046 ซึ่งเป็นเครื่องมือด้านสิ่งแวดล้อมที่จะช่วยประเมินปริมาณการใช้น้ำและปริมาณน้ำที่เสื่อมคุณภาพทั้งทางตรงและทางอ้อม
"วอเตอร์ฟุตพริ้นท์ เป็นการประเมินปริมาณการใช้น้ำในกระบวนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการหาจุด hot spot ของการใช้น้ำ เพื่อนำมาพิจารณาหาแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด และการหาแนวทางในการลดปริมาณการใช้น้ำทั้งจากกระบวนการผลิตและจากช่วงการใช้งานของผลิตภัณฑ์ รวมทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมในการสร้างระบบการรับรองการประเมินวอเตอร์ฟุตพริ้นท์ ที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย โดยโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับการคัดเลือกเพื่อให้การสนับสนุนภายใต้โครงการทั้งหมด 15 แห่ง ทั้งขนาดเล็ก กลางและใหญ่ เพื่อสร้างต้นแบบที่ดี " นางสาวพรรรัตน์ กล่าว
ด้าน นายธีรยุทธ พัชรมณีปกรณ์รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ซีพีเอฟ โรงงานอาหารแปรรูปมีนบุรี 2 เปิดเผยว่า ซีพีเอฟตระหนักในคุณค่าของทรัพยากรน้ำ ที่เป็นทรัพยากรสำคัญของโลกและเป็นปัจจัยสำคัญของการผลิตอาหาร บริษัทจึงมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจควบคู่กับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล และได้สมัครเข้าร่วมโครงการประเมินวอเตอร์ฟุตพริ้นท์ เพื่อร่วมส่งเสริมให้เกิดการใช้น้ำและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถลดต้นทุนในการผลิตและบริการ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ การเข้าร่วมโครงการนำร่องในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการแสดงถึงความตระหนักในการบริหารจัดการน้ำตามมาตรฐานสากลแล้ว ผลของการวิเคราะห์จะนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ของซีพีเอฟให้มีการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพตลอดห่วงโซ่การผลิต ตอบสนองต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารที่ยั่งยืน
ส่วน นายธงชัย สุขพัฒนนิกูลรองกรรมการผู้จัดการ ซีพีเอฟ โรงงานอาหารแปรรูป สระบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการนี้มิใช่ประเมินเพียงการใช้น้ำเฉพาะที่โรงงานผลิตอาหารเท่านั้น แต่ยังประเมินทั้งทางตรงและอ้อมตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่การเพาะปลูกพืชอาหารสัตว์ การผลิตอาหารสัตว์ การเลี้ยงสัตว์ การผลิตอาหาร รวมทั้งการขนส่ง และการกำจัดของเสีย และการคำนวณวอเตอร์ฟุตพริ้นท์ จะทำให้ทราบถึงข้อมูลปริมาณการใช้น้ำในทุกๆกิจกรรมตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ที่สำคัญการประเมินวอเตอร์ฟุตพริ้นท์จะนำไปสู่การวิเคราะห์และวางแผนการใช้น้ำอย่างเหมาะสม ช่วยส่งเสริมการอนุรักษ์น้ำบาดาลและน้ำผิวดิน ก่อให้เกิดระบบการประเมินวอเตอร์ฟุตพริ้นท์ที่เป็นรูปธรรมและเหมาะสมสำหรับประเทศไทยโดยเป็นไปตามมาตรฐานสากล และทำให้เกิดความตระหนักในการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า" นางธงชัย กล่าว
ทั้งนี้ การร่วมจัดทำ MOU ดังกล่าว เป็นการพัฒนาผู้เชี่ยวชาญและเครือข่ายด้านการประเมินวอเตอร์ฟุตพรินต์ผลิตภัณฑ์ของประเทศไทย โดยมีโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการนำร่องจำนวน 15 โรงงาน ทั้งจากอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม สิ่งทอ และวัสดุก่อสร้าง สำหรับผลิตภัณฑ์นำร่องของซีพีเอฟที่ร่วมโครงการดังกล่าวคือ ผลิตภัณฑ์อกไก่นุ่ม จากโรงงานอาหารแปรรูปมีนบุรี 2 และผลิตภัณฑ์ไก่สด จากโรงงานแปรรูปเนื้อไก่ สระบุรี โดยบุคลากรของทั้ง 2 โรงงานจะได้รับการอบรมเชิงปฏิบัติการการประเมินวอเตอร์ฟุตพรินต์ ตามมาตรฐาน ISO 14046 เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว ซึ่งสถาบันน้ำเพื่อความยั่งยืนได้จัดผู้เชียวชาญที่จะคอยให้คำปรึกษาเชิงลึก รวมทั้งร่วมกันศึกษาแนวทางลดการใช้น้ำบาดาล-น้ำผิวดิน จากกระบวนการผลิตหรือจากช่วงการใช้งานของผลิตภัณฑ์ พร้อมจัดทำรายงานการประเมินวอเตอร์ฟุตพรินต์ และแนวทางลดการใช้น้าดังกล่าว ทั้งยังมีการทวนสอบข้อมูล เพื่อให้การรับรองผลการประเมินวอเตอร์ฟุตพรินต์ต่อไป