เพราะเล็งเห็นความสำคัญของผู้ประกอบการร้านค้าปลีกรายย่อย หรือร้านโชห่วยในยุคปัจจุบัน บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) จึงจัดให้มีโครงการประกวดแผนธุรกิจไอเดียพัฒนาร้านค้า "ทายาทโชห่วย" ขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นกำลังสนับสนุนให้ผู้ประกอบการร้านโชห่วยไทยได้เติบโตอย่างเข้มแข็ง และยืนหยัดอยู่ในสังคมไทยได้อย่างยั่งยืน โดยในปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 7 ในหัวข้อ "การเขียนแผนพัฒนาร้านโชห่วยให้ยั่งยืน ด้วยนวัตกรรมในยุค 4.0" ซึ่งผู้ชนะการประกวดในโครงการคือดนัย เลิศสมพร อายุ 41 ปี เจ้าของร้านรักสารภี จังหวัดเชียงใหม่
เริ่มจากโอกาส ได้ลองผิดลองถูก จนเป็นโชห่วยอันดับ 1 ในใจของคนชุมชน
ดนัยเล่าว่า "ร้านรักสารภี เพิ่งเปิดมาได้ 1 ปีกว่า เริ่มต้นมาจากความคิดที่อยากจะมีธุรกิจร้านโชห่วยเป็นของตัวเองในชุมชนที่ตัวเองเกิดและเติบโต จึงนำบ้านไม้เก่าที่มีอายุกว่า 50 ปี ซึ่งเป็นที่คุ้นเคยของคนในชุมชนและผู้ที่สัญจรผ่านไปมาบนถนนเส้นนี้มาทำเป็นร้านโชห่วย และมองเห็นโอกาสที่คิดว่าบ้านหลังนี้จะเป็นร้านโชห่วยที่มีความพร้อมสามารถตอบสนองความต้องการของคนในชุมชนได้ โดยเริ่มต้นจากการเข้าร่วมโครงการมิตรแท้โชห่วยที่จัดขึ้นโดยแม็คโคร เพื่อนำความรู้และไอเดียมาเริ่มต้นธุรกิจของตัวเอง ซึ่งในโครงการจะให้ความช่วยเหลือแก่ร้านค้าปลีกรายย่อย ทั้งการจัดร้าน การจัดวางสินค้า การเลือกสินค้ามาจำหน่าย พร้อมทั้งช่วยแนะแนวทางในการสร้างยอดขาย และผลกำไรให้เป็นไปตามเป้าหมาย"
"แต่การเริ่มต้นธุรกิจ น้อยคนมากที่เส้นทางเดินจะมีแต่ความราบรื่น ผมก็เป็นเจ้าของธุรกิจคนหนึ่งที่ประสบปัญหามากมายตั้งแต่เริ่มเปิดร้าน เพราะการไปศึกษาเรียนรู้ในตำรา แต่ยังไม่เคยได้ลองทำจริงๆ ก็จะยังไม่มีประสบการณ์ แต่ด้วยความที่มีที่ปรึกษาจากโครงการมิตรแท้โชห่วย ประกอบกับการลองผิดลองถูกหลายต่อหลายครั้งจนเริ่มสะสมประสบการณ์ และเริ่มเรียนรู้คนในชุมชน ศึกษาความต้องการของคนในชุมชน ทำให้ได้มาซึ่งประสบการณ์และการวิเคราะห์ที่ถูกต้องจนวันนี้กลายเป็นร้านโชห่วยอันดับ 1 ในใจของคนในชุมชน" ดนัยกล่าว
แผนธุรกิจสู่ความสำเร็จ
"ผมเปรียบร้านตัวเองเป็นก้อนกรวด ที่ค่อยๆเจียรนัยไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นเพชร โดยใช้กระบวนการจัดการเชิงกลยุทธ์ของร้านรักสารภี 4 ขั้นตอน ได้แก่
1. วิเคราะห์กลุ่มลูกค้า คือการวิเคราะห์ลูกค้าที่แวะเวียนมาที่ร้าน เช่น อายุ อาชีพ รายได้ กลุ่มที่มาใช้บริการร้าน การเข้ามาเลือกซื้อสินค้าแต่ละประเภท ความชอบของผู้หญิงและผู้ชายต่างกันอย่างไร ฯลฯ
2. การสร้างกลยุทธ์หรือสร้างกระบวนการ เน้นสร้างความแตกต่าง เช่น สินค้าและบริการต้องครบตามความต้องการของลูกค้า มีบริการส่งถึงบ้าน บริการจ่ายค่าสาธารณูปโภค บริการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ บริการเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ ปั๊มน้ำมันหยอดเหรียญ เป็นต้น ใช้นวัตกรรมเพิ่มยอดขาย เช่น ใช้ช่องทางออนไลน์สื่อสารกับลูกค้า เช่น ไลน์ เฟสบุคแฟนเพจ เพื่อให้เข้าถึงลูกค้าโดยตรง นำเสนอและรับฟังความคิดเห็นของลูกค้า พร้อมทั้งนำข้อมูลที่ได้มาปรับปรุง จึงส่งผลให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว
3. การนำไปใช้ เป็นขั้นตอนที่เรานำผลการวิเคราะห์กลุ่มลูกค้า และการสร้างกลยุทธ์หรือสร้างกระบวนการขึ้นมานั้นนำไปใช้ เพื่อวิเคราะห์ว่าสิ่งที่เราทำว่าใช้ได้จริงหรือไม่
4. การวัดผล เป็นขั้นตอนสุดท้ายที่สำคัญ โดยวัดจากจำนวนยอดขายสินค้า และจำนวนผู้ใช้บริการของร้านในแต่ละวันว่าเป็นอย่างไร เพื่อนำมาใช้ปรับปรุงให้ร้านมีศักยภาพมากขึ้น
ซึ่งการที่ร้านจะเติบโตจนเป็นศูนย์กลางของชุมชนได้นั้น ต้องผ่านกระบวนการลองผิดลองถูก การเรียนรู้ และพัฒนา ที่สำคัญต้องสร้างความต่างจากร้านโชห่วยทั่วไป และต้องขอบคุณคนในชุมชนที่ให้ความร่วมมือและเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนร้านของเรามาโดยตลอด" ดนัยกล่าวเพิ่มเติม
โชห่วย... ร้านที่ดูเหมือนง่าย ใครๆ ก็เปิดได้ อาจเป็นความคิดในใจของหลายๆ คน แต่การที่จะทำให้ร้านโชห่วยที่แสนธรรมดาให้กลายเป็นร้านโชห่วยในใจชุมชนและเติบโตได้อย่างยั่งยืนได้นั้น จะต้องผ่านกระบวนความรู้ การจัดการ ประสบการณ์ และแนวคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญของความสำเร็จในวันนี้