ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวว่า วันขึ้นปีใหม่ตามความเชื่อของผู้คนทั่วไปถือเป็นวันดีในการเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ๆ ขณะเดียวกันผู้คนจำนวนมากมักจะใช้วันปีใหม่เป็นโอกาสในการเริ่มต้นทำในสิ่งที่ตนเองตั้งใจไว้ ทั้งนี้ผู้คนในสังคมมักจะมีความตั้งใจที่จะทำสิ่งต่างๆให้กับตนเองในปีใหม่ ซึ่งเมื่อถึงสิ้นปีก็จะมีทั้งผู้ที่ได้ทำและไม่ได้ทำในสิ่งที่ตนเองตั้งใจไว้ นอกจากนี้ เมื่อถึงวันขึ้นปีใหม่ผู้คนในสังคมมักจะขอพรให้ตนเองได้พบสิ่งดีๆในปีใหม่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหน้าที่การงาน การเรียน คุณภาพชีวิต เป็นต้น รวมถึงแสดงความคาดหวังในเรื่องต่างๆที่จะเกิดขึ้นในปีใหม่ ดังนั้นเนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่พุทธศักราช 2561 สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคาดหวังของประชาชนทั่วไปในปีพุทธศักราช 2561
ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวต่อไปว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างอายุ 15 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.78 และเพศชายร้อยละ 49.22 สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านพฤติกรรมการทำในสิ่งที่ตั้งใจจะทำในปี พ.ศ. 2560 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 42.33 ระบุว่าตนเองได้ทำในสิ่งที่ตั้งใจจะทำในปี พ.ศ. 2560 เพียงบางสิ่ง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างมากกว่าหนึ่งในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 26.38 ยอมรับว่าไม่ได้ทำในสิ่งที่ตนเองตั้งใจจะทำในปี พ.ศ. 2560 เลย มีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 19.22 ระบุว่าตนเองได้ทำครบทุกสิ่งแล้ว และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 12.07 ระบุว่าตนเองไม่ได้ตั้งใจจะทำสิ่งใดในปี พ.ศ. 2560 เลย
ในด้านความตั้งใจที่จะทำสิ่งใหม่ๆในปี พ.ศ. 2561 กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 70.09 ระบุว่าตนเองตั้งใจจะทำสิ่งใหม่ๆในปี พ.ศ. 2561 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 12.41 ยอมรับว่าตั้งใจจะไม่ทำสิ่งใหม่ๆในปี พ.ศ. 2561 เลย โดยที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 17.5 ระบุว่าตนเองยังไม่แน่ใจ
สำหรับพรที่กลุ่มตัวอย่างขอให้กับตนเองในปี พ.ศ. 2561 มากที่สุด 5 อันดับได้แก่ ขอให้สุขภาพแข็งแรงไม่เจ็บป่วยคิดเป็นร้อยละ 88.79 ขอให้สมาชิกในครอบครัวอยู่ร่มเย็นเป็นสุขคิดเป็นร้อยละ 86.38 ขอให้ร่ำรวยเงินทอง/มีกินมีใช้ตลอดปีคิดเป็นร้อยละ 83.36 ขอให้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน/การเรียนคิดเป็นร้อยละ 80.52 และขอให้ถูกสลากกินแบ่ง/สลากออมสิน/สลากต่างๆคิดเป็นร้อยละ 76.98
ส่วนข่าวที่กลุ่มตัวอย่างอยากให้หมดไปจากสังคมไทยในปี พ.ศ. 2561 สูงที่สุด 5 อันดับคือ ข่าวความรุนแรงภายในครอบครัวคิดเป็นร้อยละ 85.09 ข่าวความรุนแรงที่กระทำกับเด็กคิดเป็นร้อยละ 82.93 ข่าวล่วงละเมิดทางเพศคิดเป็นร้อยละ 81.03 ข่าวการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐโดยไม่เป็นธรรมคิดเป็นร้อยละ 77.93 และข่าวการทุจริตในนโยบาย/โครงการต่างๆคิดเป็นร้อยละ 76.81
และสำหรับความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาที่ต้องการให้รัฐบาลให้ความสำคัญในปี พ.ศ. 2561 นั้น กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 31.55 ระบุว่าในปี พ.ศ. 2561 นี้ตนเองอยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหาด้านเศรษฐกิจ/ปากท้องของประชาชน (ราคาสินค้าอุปโภค/บริโภค ราคาสาธารณูปโภค รายจ่าย/รายได้) มากที่สุด รองลงมาคือปัญหาด้านการบริหารราชการแผ่นดิน (การทุจริตคอรัปชั่น/ประพฤติมิชอบ การช่วยเหลือพวกพ้อง การบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียม) คิดเป็นร้อยละ 25.86 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 13.19 ระบุว่าอยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหาด้านการเกษตร (ราคาสินค้าทางการเกษตร ปัญหาสินค้าทางการเกษตรล้นตลาด/ขาดแคลน) ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 8.97 ร้อยละ 7.5 ร้อยละ 6.47 และร้อยละ 5.34 ระบุว่าปัญหาด้านความมั่นคง (ปัญหาความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ ปัญหาการหมิ่นสถาบัน) ปัญหาด้านสังคม (ปัญหาอาชญากรรม ยาเสพย์ติด อุบัติเหตุ ความรุนแรงภายในครอบครัว หนี้นอกระบบ) ปัญหาภัยธรรมชาติ (น้ำท่วม ภัยแล้ง) และปัญหาด้านการเมือง (ความขัดแย้งทางการเมือง ความเคลื่อนไหวทางการเมือง การจัดการเลือกตั้ง) ตามลำดับ และปัญหาอื่นๆคิดเป็นร้อยละ 1.12 ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าว