"TMB Analytics ปรับประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 60 เพิ่มขึ้นเป็น 4.0% จากเดิมคาดการณ์ที่ 3.5%" ปัจจัยผลักดันมาจากมูลค่าส่งออกสินค้าที่เติบโตเร่งขึ้นมากกว่าคาดในไตรมาสสุดท้าย ทำให้ทั้งปีคาดขยายตัวได้ถึง 10.3% ตามการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ยังมีปัจจัยหนุนจากการท่องเที่ยวที่เติบโตดี และการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจะช่วยชดเชยเม็ดเงินการลงทุนภาครัฐที่มีการเบิกจ่ายต่ำกว่าประมาณการเดิม และการบริโภคภาคเอกชนที่ยังคงเปราะบาง
"คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 61 ขยายตัวดีต่อเนื่องที่ 4.2% สูงขึ้นจากมุมมองเดิมที่ 3.8% สอดคล้องกับทิศทางการขยายตัวเศรษฐกิจโลกที่เข้มแข็งมากขึ้นและปัจจัยหนุนจากแรงส่งที่สูงขึ้นของเศรษฐกิจไทยในปีก่อนหน้า" ในส่วนของเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวหนุนปริมาณการค้าโลกให้ขยายตัวต่อเนื่อง โดยคาดความต้องการสินค้าโลกจะเติบโต 4% เป็นผลดีต่อการส่งออกของไทยให้ขยายตัวได้ 4.8% แม้เป็นอัตราที่ชะลอลงจากปีก่อนหน้าซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานสูง แต่โดยเฉลี่ยมูลค่าส่งออกจะอยู่ที่เดือนละไม่ต่ำกว่า 20.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯซึ่งเป็นระดับสูงกว่าหลายปีที่ผ่านมา โดยเป็นการเติบโตในทุกตลาดและสินค้าหลักสำคัญ แม้กระทั่งตลาดจีนที่การขยายตัวของเศรษฐกิจไม่ร้อนแรง แต่ก็คาดว่าการส่งออกไปจีนจะเติบโต 8% ซึ่งเป็นผลจากความต้องการสินค้าของผู้บริโภคในยุคดิจิตอลและการมุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง รวมทั้งความต้องการยางพาราเพื่อใช้ผลิตยางรถยนต์
ขณะเดียวกัน การฟื้นตัวที่ชัดเจนของเศรษฐกิจโลก นำไปสู่การดำเนินนโยบายการเงินในทิศทางที่ผ่อนคลายลดลง สภาพคล่องทางการเงินเดิมที่มีอยู่มากจากการอัดฉีดเงินหรือการทำ QE ของธนาคารกลางประเทศเศรษฐกิจหลักมีแนวโน้มลดลง ตามมาด้วยการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมมีแนวโน้มสูงขึ้น อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯอีกในปีนี้ ซึ่งเราคาดว่าจะเกิดขึ้น 3 ครั้งแต่ยังคงเห็นแนวโน้มเงินทุนไหลเข้าในภูมิภาค สอดคล้องกับพื้นฐานเศรษฐกิจในภูมิภาคที่แข็งแกร่งรวมทั้งเศรษฐกิจไทยที่ได้อานิสงส์จากการเติบโตของการส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนให้เงินบาทมีทิศทางแข็งค่าต่อเนื่องในปีนี้ คาดแตะระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงสิ้นปีจาก 32.5 ณ สิ้นปี 60
ในส่วนของ เครื่องยนต์เศรษฐกิจในประเทศ มีแนวโน้มขยายตัวดีต่อเนื่อง คาดว่าจะเห็นการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้น จากหลายปัจจัยสนับสนุนทั้งการส่งออกที่สดใส เป็นผลให้มีการลงทุนเครื่องจักรและอุปกรณ์เพิ่มขึ้น การลงทุนภาครัฐที่คาดว่าจะขยายตัวถึง 12% เมื่อพิจารณาจากงบลงทุนของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจที่รวมแล้วแตะระดับ 1 ล้านล้านบาท เป็นระดับที่สูงกว่าหลายปีที่ผ่านมา รวมทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหลายโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง อาทิ มอเตอร์เวย์เส้นทางพัทยา-มาบตาพุด รถไฟทางคู่เส้นทางชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ตลอดจนมีแนวโน้มที่จะเร่งการลงทุนด้านคมนาคมในทุกมิติ เพื่อรองรับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เช่น การขยายถนน ขยายช่องทางการจราจรและโครงข่ายถนนสายรองในพื้นที่ภาคตะวันออก นอกจากนี้ ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมก็จะเห็นอัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นต่อเนื่องสอดคล้องกับความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง
การท่องเที่ยวเติบโตดีต่อเนื่อง คาดจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 61 เพิ่มขึ้นเป็น 37 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 6.5% เป็นการเติบโตจากแทบทุกตลาดนักท่องเที่ยว อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาในแง่ภาพรวมโครงสร้างรายได้จากภาคท่องเที่ยวในปี 59 พบว่า 2 ใน 3 มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ส่วนใหญ่มาจากเอเชียตะวันออกและอาเซียน ซึ่งค่อนข้างอ่อนไหวต่อการปรับเปลี่ยนการเดินทางเป็นปัจจัยที่ต้องระวัง นอกจากนี้ กลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมท่องเที่ยวกระจุกอยู่ใน 4 จังหวัด (กรุงเทพฯ ชลบุรี
สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต) ทำให้โครงสร้างรายได้ภาคการท่องเที่ยวไม่กระจายตัวมากนัก เป็นปัจจัยเชิงโครงสร้างที่อาจส่งผลกระทบต่อรายได้ครัวเรือนให้ฟื้นตัวได้ช้า
การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มทรงตัว โดยขยายตัว 3.0% จากปัจจัยสนับสนุนการบริโภคยังไม่เข้มแข็งทั้งรายได้นอกภาคเกษตรและรายได้ภาคเกษตร หรืออีกนัยหนึ่งเศรษฐกิจในภาพรวมขยายตัวดีต่อเนื่อง แต่การส่งผ่านผลดีไปยังการจ้างงานและรายได้ครัวเรือนยังไม่เข้มแข็งสะท้อนจากการจ้างงานนอกภาคเกษตรซึ่งมีการจ้างงานคิดเป็น 70% ของการจ้างงานรวม ได้รับผลกระทบจากการจ้างงานที่ปรับลดลง โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อยในภาคการผลิตและภาคก่อสร้าง อีกทั้งอัตราการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนมีแนวโน้มลดลงเช่นกัน ในส่วนของรายได้เกษตรกรพบว่าราคาสินค้าเกษตรโดยรวมถูกกดดันจากปริมาณผลผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น ยกเว้นราคายางพาราที่มีแนวโน้มสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน ทำให้ภาพรวมรายได้เกษตรกรในปี 61 ไม่ขยายตัว ฉุดกำลังซื้อและการบริโภคในภูมิภาค
ในด้านตลาดการเงิน คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะค่อยๆ ปรับตัวจาก 1.5% สู่ระดับ 2.0% ในปี 61 ตามแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่องและแนวโน้มดอกเบี้ยโลกขาขึ้น
"ส่วนการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ในปี 61 มีแนวโน้มดีขึ้น ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและมาตรการส่งเสริมการลงทุนภาครัฐ" สินเชื่อโดยรวมมีแนวโน้มขยายตัว 5.3% ปรับลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 5.7% จากยอดสินเชื่อในปี 60 ที่คาดว่าจะเติบโตเพียง 4% โดยการขยายตัวของสินเชื่อมาจากเติบโตของธุรกิจขนาดใหญ่ นำโดยธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่ได้รับผลดีจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และภาคธุรกิจที่เริ่มมีการขยายกำลังการผลิต ส่วน SME และสินเชื่อรายย่อยยังคงทยอยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในส่วนของสินเชื่ออุปโภคบริโภค ทั้งสินเชื่อเช่าซื้อจะทยอยปรับตัวดีขึ้นจากการปลดล็อครถคันแรก แต่ยังมีปัจจัยลบจากรายได้ภาคเกษตรที่ทรงตัวในระดับต่ำ
ในด้านคุณภาพสินเชื่อ เรามองว่าสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วในปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มปรับลดลงในปี 61 โดย 82% ของมูลค่า NPL อยู่ที่สินเชื่อ SME และสินเชื่อรายย่อย อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มที่ NPL จะลดลงตามการปรับดีขึ้นของเศรษฐกิจ โดยจะเห็นการก่อตัวของ NPL (NPL Formation) มีแนวโน้มลดลงเช่นกันในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการค้าที่ปรับดีขึ้นตามการลงทุนภาคเอกชน
ด้านเงินฝากมีแนวโน้มขยายตัว 5.5% ปรับลดจากคาดการณ์เดิมที่ 5.9% จากยอดเงินฝากปี 60 ที่คาดเติบโตเพียง 4.3% โดยเงินฝากที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นไปตามความต้องการสินเชื่อและทิศทางการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในปี 61 จากความต้องการสินเชื่อในปีนี้ที่เร่งขึ้น คาดว่าจะทำให้สภาพคล่องธนาคารพาณิชย์ตึงตัวขึ้นเล็กน้อย อย่างไรก็ดี เมื่อมองสภาพคล่องโดยรวมของประเทศแล้ว เรายังมีสภาพคล่องเหลือกว่า 12 ล้านล้านบาท" นายนริศ กล่าวสรุป ?