นางสาวอุราวรรณ อุ่นแก้ว รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กล่าวว่า การสร้างความสามารถของผู้ประกอบการในการแข่งขันด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นงานที่สำคัญงานหนึ่งของกรมวิทยาศาสตร์บริการ โดยนำผลงานวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่เหมาะสมไปใช้ประโยชน์ผ่านกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการสร้างสรรค์ นวัตกรรมให้กับผู้ประกอบการ OTOP เพื่อพัฒนาสินค้า OTOP ให้ได้มาตรฐานระดับต่างๆทั้งในประเทศ และระดับสากล รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก โดยเฉพาะผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้า
การดำเนินงานด้านนวัตกรรมเรื่อง Color ID Labeling และ ผ้ายีนส์นั้นจะเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติโดยการสร้างฐานข้อมูลในการสอบกลับของแหล่งที่มาของผ้าบนระบบดิจิตอล โดยการให้ค่าสีที่เป็นรหัสสากล สถานที่ กระบวนการและเวลาในการผลิต รวมถึงปริมาณที่ผลิตได้ในแต่ละครั้ง เพื่อให้เกิดเรื่องราวของผืนผ้าที่สามารถส่งต่อไปยังผู้ซื้อในตลาดสากลได้ อีกทั้งการใช้เทคนิคการทอและฟอกย้อม แบบผ้ายีนส์ในการผลิตผ้าฝ้ายทอมือย้อมครามของไทยทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่ได้ลักษณะร่วมสมัยและมีการออกแบบเพื่อให้เกิดการขยายฐานลูกค้าสู่กลุ่มประชากรยุค Thailand 4.0 เพิ่มมากขึ้น ซึ่งผลแห่งความสำเร็จนี้จะทำให้ผู้ประกอบการ OTOP และเศรษฐกิจ ฐานรากไทยก้าวสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
ทั้งนี้ภายในงานสัมมนาฯ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันในหลายด้าน ระหว่างกลุ่มผู้ประกอบการ นักวิทยาศาสตร์ นักการตลาด และดีไซน์เนอร์จากภาคเอกชน อาทิ ด้านการพัฒนาผ้าฝ้ายย้อมครามสู่ผ้ายีนส์ไทย ด้านการพัฒนาแบรนด์ดิ้งและการสร้างความเชื่อมั่นต่อลูกค้า ด้านแนวโน้มเทคโนโลยีสำหรับการค้าในยุคดิจิตัลและระบบ customer/product matching เป็นต้น รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบการนำผลงานผ้ามาจัดแสดงและจัดจำหน่าย พร้อมขอคำแนะนำเทคนิคการพัฒนารูปแบบในด้านต่างๆจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อส่งเสริมอัตลักษณ์ของผ้าทอไทยนำไปสู่การสนับสนุนเรื่องท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของแต่ละจังหวัด ส่งผลให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตได้อย่างยั่งยืน