(1) การกำหนดทรัพย์อิงสิทธิ ผู้ให้ทรัพย์อิงสิทธิต้องเป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนด และเจ้าของห้องชุดเท่านั้น
(2) การจดทะเบียนทรัพย์อิงสิทธิ ต้องทำเป็นหนังสือ และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดิน โดยมีกำหนดระยะเวลาไม่เกิน 30 ปี
(3) การออกหนังสือรับรองให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกหนังสือรับรองทรัพย์อิงสิทธิ โดยทำเป็นคู่ฉบับสามฉบับ ซึ่งการออกหนังสือรับรองนี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และแบบที่กำหนดโดยกฎกระทรวง
(4) กำหนดสิทธิของผู้ทรงทรัพย์อิงสิทธิ โดยมิต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ ดังนี้
(4.1) การนำทรัพย์อิงสิทธิออกให้เช่า ขาย โอน หรือตกทอดแก่ทายาทได้ และนำไปใช้เป็นหลักประกันการชำระหนี้โดยการจำนองได้
(4.2) การดัดแปลง ต่อเติม ปลูกโรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างได้ และเมื่อสัญญาได้เลิกหรือระงับ ให้ทรัพย์ซึ่งได้ทำการดัดแปลง ต่อเติม หรือปลูกสร้างไว้ตกเป็นกรรมสิทธิของผู้ให้ทรัพย์อิงสิทธิ เว้นแต่จะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญา
(5) กำหนดหน้าที่ของผู้ทรงทรัพย์อิงสิทธิ ต้องจัดการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อปัดป้องภยันตรายแก่อสังหาริมทรัพย์ที่มีทรัพย์อิงสิทธิ หรือกรณีบุคคลภายนอกรุกล้ำเข้ามาในอสังหาริมทรัพย์ที่มีทรัพย์อิงสิทธิ หรือเรียกร้องสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งเหนืออสังหาริมทรัพย์ที่มีทรัพย์อิงสิทธินั้น และให้แจ้งเหตุให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ทราบโดยพลัน
ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติฯ ที่กล่าวข้างต้น เป็นการสร้างแรงจูงใจและความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนหรือนักธุรกิจที่จะนำเงินเข้ามาลงทุนหรือเข้ามาประกอบอาชีพในประเทศ ให้สามารถใช้สิทธิในอสังหาริมทรัพย์ ได้สะดวกและคล่องตัวยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นการช่วยเพิ่มมูลค่าและเกิดสภาพคล่องในภาคอสังหาริมทรัพย์ของประเทศ อันจะก่อให้ประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม