นายเชิดชัย พรหมแก้ว รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยถึง ความคืบหน้าจากการดำเนินโครงการธนาคารโคมนมทดแทนฝูง ของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ว่า การจัดตั้งธนาคารโคมนมทดแทนฝูง มีเป้าหมายเพื่อทำให้สมาชิกสหกรณ์โคนมบริหารจัดการโคนมของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถลดต้นทุนการผลิต ควบคู่กับการเพิ่มปริมาณและคุณภาพของน้ำนม ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ ปี 2559 ซึ่งการเลี้ยงโคนมทดแทนฝูงดำเนินการในลักษณะฟาร์มรวมและบริหารโดยสหกรณ์ ในรูปแบบธนาคารโคมนมทดแทนทำหน้าที่รับฝาก ลูกโค – โครุ่นมาบริหารจัดการที่ฟาร์มกลางของสหกรณ์ เพื่อเลี้ยงดูตามหลักวิชาการ การให้อาหารที่เหมาะสมตามช่วงวัยของโค จนโคเติบโตเป็นโคสาวและท้องเป็นเวลา 3 เดือน จึงจะให้สมาชิกมาไถ่ถอนคืนได้ หรือขายให้แก่เกษตรกรรายอื่น ซึ่งการไถ่ถอนคืนโคสาว สมาชิกอาจชำระเป็นเงินสด เป็นสินเชื่อ หรือให้หักจากค่าน้ำนมดิบที่นำมาขายให้สหกรณ์ก็ได้ ซึ่งเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งทางสหกรณ์จะกำหนดรูปแบบการบริหารจัดการและบันทึกข้อมูลอย่างชัดเจน
รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ระบุถึงประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับจากการเข้าร่วมโครงการ ว่า เกษตรกรสามารถลดค่าใช้จ่ายในการรับภาระเลี้ยงดูลูกโค โดยเมื่อลูกโคเข้าสู่ระบบฟาร์มกลางของสหกรณ์จะได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีตามหลักวิชาการ ส่งผลให้มีอัตราการเจริญเติบโตและสมบูรณ์สูงกว่าการเลี้ยงเองที่ฟาร์มของเกษตรกร และยังเพิ่มโอกาสในการผสมเทียมติดเร็วขึ้น ซึ่งหมายถึงเกษตรกรจะมีรายได้จากการรีดนมได้เร็วขึ้นเช่นกัน ขณะเดียวกันการเลี้ยงโคนมที่ถูกหลักวิชาการนั้น ยังทำให้โคสาวสามารถเพิ่มผลผลิตน้ำนมดิบได้เฉลี่ย 1-3 กก./ตัว/วัน นอกจากนี้ การที่เกษตรกรนำลูกโคเข้ามาฝากที่ธนาคารฯ จะส่งผลให้มีเวลาเพิ่มมากขึ้นในการดูแลฟาร์มโคของตนเองได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งยังเป็นการช่วยลดภาระและช่วยลดต้นทุนในการเลี้ยงโคนมให้แก่เกษตรกรอีกด้วย
ผลจากการดำเนินโครงการฯ ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา สามารถบริหารจัดการต้นทุนและเพิ่มรายได้ให้แก่สมาชิกสหกรณ์ โคนมเป็นอย่างดี มีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมเข้าร่วมโครงการรวม 431 ราย รับฝากโค รวม 1,515 ตัว มูลค่า 18,180,000 บาท มีการไถ่ถอนโคคืน 1,285 ตัว มูลค่าถอนคืนรวม 51,400,000 บาท จึงนำไปสู่แนวคิดในการขยายผล โดยการส่งเสริมสมาชิกให้ยกระดับจากการเป็นเกษตรกร ผู้เลี้ยงรายบุคคล พัฒนาไปสู่การเป็นผู้ประกอบการรายย่อย ขณะเดียวกันก็จะสนับสนุนให้สหกรณ์โคนมขนาดเล็กรวมตัวกันในรูปธนาคารโคนมทดแทน และมีการสร้างฟาร์มกลางเลี้ยงโคนมร่วมกัน ซึ่งจะทำให้มีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถดำเนินการธุรกิจการเลี้ยงโคนมได้อย่างครบวงจรและเกินจุดคุ้มทุน อันจะนำไปสู่ประโยชน์ของสมาชิกสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมในที่สุด
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีธนาคารโคมนมทดแทนฝูงของสหกรณ์ รวม 8 แห่ง แบ่งเป็นในปี 2559 ประกอบด้วย สหกรณ์โคนมผาตั้ง จำกัด จ.เชียงใหม่, สหกรณ์โคนมการเกษตรไชยปราการ จำกัด จ.เชียงใหม่, สหกรณ์โคนมพิมาย จำกัด จ.นครราชสีมา ต่อมาในปี 2560 ได้ขยายผลต่อไปยังสหกรณ์โคนมบ้านบึง จำกัด จ.ชลบุรี, ชุมนุมสหกรณ์โคนมภาคใต้และตะวันตก จำกัด จ.ประจวบคีรีขันธ์, สหกรณ์โคนมพัทลุง จำกัด จ.พัทลุง, สหกรณ์โคนมลำพูน จำกัด จ.ลำพูน และสหกรณ์โคนมขอนแก่น จำกัด จ.ขอนแก่น ขณะที่ในปี 2561 จะพัฒนาขยายผลไปยังสหกรณ์ โคนมที่มีศักยภาพและความพร้อม เพิ่มเติมอีก 5 แห่ง ซึ่งจะดำเนินการคัดเลือกสหกรณ์โคนมที่จะเข้าร่วมโครงการใน เดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้
สำหรับแนวทางการพัฒนาสหกรณ์โคนมในปี 2561 กรมฯได้วางแผนไว้โดยแบ่งออกเป็น 5 ระดับ ประกอบด้วย 1.การวางแผน กลยุทธ์เพื่อขยายขนาดที่เหมาะสมในสหกรณ์โคนม 51 แห่ง ที่มีปริมาณน้ำนมต่ำกว่า 10 ตัน/วัน 2. พัฒนาปริมาณน้ำนมโคในสหกรณ์ 17 แห่ง ที่มีปริมาณน้ำนม 10-20 ตัน/วัน 3. พัฒนายกระดับการดำเนินธุรกิจ ในสหกรณ์ 23 แห่ง ที่มีปริมาณน้ำนม 20-50 ตัน/วัน 4.พัฒนาตามศักยภาพการดำเนินธุรกิจ ในสหกรณ์ 5 แห่ง ที่มีปริมาณน้ำนม 50-100 ตัน/วัน และ5. การวางแผนพัฒนาความก้าวหน้าในสหกรณ์ 4 แห่ง ที่มีปริมาณน้ำนม 100 ตัน/วันขึ้นไป