การเปิดตัวศูนย์ประสานงานขับเคลื่อนการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ หรือ ศูนย์โคแพท COPAT – Child Online Protection Action Thailand

พุธ ๑๐ มกราคม ๒๐๑๘ ๑๖:๐๒
"เด็กไทยกับสื่อออนไลน์ 2560" ศูนย์ประสานงานขับเคลื่อนการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ หรือ ศูนย์โคแพท COPAT – Child Online Protection Action Thailand

ผลสำรวจ 10 สถานการณ์เด็กไทยกับสื่อออนไลน์ พบโอกาสเสี่ยงติดเกม เป็นเหยื่อ การกลั่นแกล้ง การนัดพบ และสื่อลามกอนาจาร แต่น่าห่วงว่าเด็กร้อยละ 75 เชื่อว่าดูแลตัวเองและช่วยเพื่อนได้

กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวง พม. คลอด COPAT – Child Online Protection Action Thailandเป็นศูนย์ประสานงานปกป้องคุ้มครองเด็กออนไลน์

เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2561 ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารหอประชุม สำนักงาน กสทช. ในงานเสวนา "เด็กและเยาวชนไทย รู้คิด รู้เท่าทัน สร้างสรรค์เทคโนโลยี" มีการเปิดตัวศูนย์ประสานงานขับเคลื่อนการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ หรือ ศูนย์โคแพท COPAT – Child Online Protection Action Thailand

นายวิทัศน์ เตชะบุญ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวง พม. กล่าวว่า "ศูนย์ COPAT ได้รับการจัดตั้งขึ้น เพื่อทำหน้าที่ประสานงาน เชื่อมร้อยงานดูแลเด็กและเยาวชนบนโลกออนไลน์ร่วมกับภาคส่วนๆ ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และเครือข่ายเด็กและเยาวชน ในปีที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2560 เห็นชอบยุทธศาสตร์ส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ พ.ศ. 2560 – 2564 และเห็นชอบให้กระทรวง พม. จัดตั้งศูนย์ประสานงานขับเคลื่อนการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชนได้จัดตั้งศูนย์ COPAT – Child Online Protection Action Thailand เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ฯ 5 ด้าน ได้แก่ 1) การพัฒนากลไกและเครือข่ายที่เป็นเอกภาพและมีประสิทธิภาพ 2) การจัดระบบปกป้องคุ้มครองและเยียวยาเด็กและเยาวชน 3) การสร้างองค์ความรู้และการวิจัย 4) การเสริมสร้างศักยภาพเด็ก เยาวชน และบุคคลแวดล้อม และ 5) การสร้างความตระหนักสาธารณะ ในขณะเดียวกันจะมีหน่วย เฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยออนไลน์ที่อาจส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนโดยตรง เพื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครองและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีองค์ความรู้และชุดเครื่องมือที่พร้อมรับกับสถานการณ์ สามารถคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กและเยาวชนลูกหลานของเราได้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น"

อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กล่าวเพิ่มเติมว่า "ศูนย์ COPAT มีกลไกในการกำกับติดตามเชิงนโยบายคือ คณะอนุกรรมการส่งเสริมการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ ซึ่งมี นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นประธานอนุกรรมการฯ ซึ่งอยู่ภายใต้คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ซึ่งมีพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช กรรมการผู้จัดการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย และ อนุกรรมการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ เปิดเผยว่า "ศูนย์ COPAT ได้สำรวจสถานการณ์เด็กไทยกับภัยออนไลน์ ระหว่างเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม 2560 กลุ่มตัวอย่างเป็นเด็กอายุ 9-18 ปี จำนวน 10,846 คน จากทั่วประเทศ ส่วนใหญ่เป็นเด็กมัธยม (93.10%) ข้อมูลชี้ชัด เด็กๆ เชื่อว่าอินเทอร์เน็ตให้ประโยชน์และสิ่งดีๆ มากมาย (98.47%) ในขณะเดียวกันก็ตระหนักว่ามีภัยอันตรายและความเสี่ยงหลากหลายรูปแบบบนอินเทอร์เน็ต (95.32%) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการถูกล่อลวง ติดตามคุกคาม ล่วงละเมิดทางเพศ กลั่นแกล้ง ถูกหลอกในการซื้อสินค้า เอาข้อมูลส่วนตัวไปใช้ในทางมิชอบ ติดเกม และเข้าถึงเนื้อหาผิดกฎหมายหรือเป็นอันตราย"

ดร.ศรีดา ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมที่น่าเป็นห่วงคือ "กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เชื่อว่าเพื่อนๆ มีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดภัยอันตรายอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวแล้ว (69.92 %) ในขณะที่คิดว่าการกลั่นแกล้งรังแกหรือการละเมิดทางเพศจะไม่เกิดขึ้นกับตัวพวกเขาเอง (61.39%) เมื่อเผชิญปัญหาภัยหรือความเสี่ยงออนไลน์แล้วสามารถจัดการปัญหานั้นเองได้ (74.91%) ทั้งยังสามารถช่วยเหลือเพื่อนที่ประสบปัญหาภัยออนไลน์ได้อีกด้วย (77.90%) จึงเป็นประเด็นที่ผู้ใหญ่ต้องทบทวนว่าเด็กๆ มีเครื่องไม้เครื่องมือที่เพียงพอจะรับมือกับภัยหรือความเสี่ยงออนไลน์ได้ดีอย่างที่พวกเขาเชื่อหรือไม่ ศูนย์ COPAT จะมาทำหน้าที่ให้ความรู้ ให้เครื่องมือ สร้างภูมิคุ้มกันทั้งในตัวเด็กเองและบุคคลแวดล้อมให้สามารถดูแลเด็กได้ ทั้งในรูปแบบของการทำแคมเปญสร้างความตระหนัก จัดทำเอกสารเผยแพร่ อบรมสัมมนาสร้างแกนนำเพื่อนช่วยเพื่อน พัฒนาทักษะพ่อแม่ดูแลบุตรหลานยุคดิจิทัล ดึงความร่วมมือและสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน"

"เรายังพบว่า เด็กส่วนใหญ่เคยเล่นเกมออนไลน์ (80.48%) เด็กผู้ชายเสี่ยงติดเกมมากกว่าเด็กผู้หญิง โดยเล่นเกมทุกวันหรือเกือบทุกวัน (50.73%) ในขณะที่เด็กผู้หญิงเล่นเกมสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง (32.34%) เด็กเคยถูกกลั่นแกล้งรังแกทางออนไลน์ (46.11%) โดยเพศทางเลือกถูกกลั่นแกล้งมากที่สุด (59.44%) เด็กบางคนยอมรับว่าเคยกลั่นแกล้งคนอื่น (33.44%) เคยพบเห็นสื่อที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ(68.07%) ส่วนหนึ่งตอบว่าเคยเห็นสื่อลามกอนาจารเด็ก (21.33%) ได้แก่ ภาพหรือวิดีโอเด็กในท่าทางยั่วยุอารมณ์เพศ การร่วมเพศระหว่างเด็กกับเด็กหรือเด็กกับผู้ใหญ่ เด็กยังเคยนัดพบกับเพื่อนออนไลน์ (15.97%) เด็กผู้ชายเคยนัดพบ (19.34%) ซึ่งมากกว่าเด็กผู้หญิง (12.43%) มีเด็กที่เคยนัดพบมากกว่า 10 ครั้งในช่วงสิบเดือนที่ผ่านมา (6.60%)" เด็กอายุ 15-18 ปี หรือมัธยมปลาย เป็นกลุ่มที่มีการนัดพบมากที่สุด (77.36%) โซเชียลมีเดียและบริการรับส่งข้อความอย่าง Facebook หรือ Line เป็นช่องทางที่เด็กๆ ใช้ในการติดต่อพูดคุย นัดพบ หรือเข้าถึงสื่อไม่เหมาะสมต่างๆ (71.14 - 94.36%) เด็กไม่ถึงครึ่งบอกเรื่องที่เกิดขึ้นทางออนไลน์กับคนอื่น และคนแรกที่เขานึกถึงและบอกคือเพื่อนหรือคนที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกันมากกว่าพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ ข้อมูลเหล่านี้ทำให้เรามองเห็นภาพสถานการณ์และปัญหาชัดเจนยิ่งขึ้น ทำให้รัฐบาลสามารถวางนโยบายจัดการรับมือกับปัญหาเด็กกับสื่อออนไลน์ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งในประเทศของเราไม่เคยมีการสำรวจข้อมูลในลักษณะนี้มาก่อน ถือเป็นของขวัญวันเด็กเริ่มในปีนี้และจะมีการสำรวจอย่างต่อเนื่องทุกปีต่อไป" ดร.ศรีดา กล่าวเสริม

ธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการอิสระ และ อนุกรรมการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ ได้เปิดเผยรายงานสรุปสถานการณ์สื่อออนไลน์กับเด็กและเยาวชนไทย 2560 จากการศึกษาข้อมูลทุติยภูมิของการสำรวจวิจัย และงานเอกสารต่างๆ ในประเทศทั้งของหน่วยงานรัฐ และเอกชน ถึงสถานการณ์ล่าสุดที่เกี่ยวข้องกับการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในประเทศไทย พบว่า มี "10สถานการณ์วิกฤตภัยออนไลน์ต่อเด็กและเยาวชน" ที่หน่วยงานรัฐและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ควรสร้างมาตรการระวัง ป้องกันภัย และรับมือได้แล้ว คือ

1. ปัญหาการเล่นเกม เด็กติดเกมส์ และ อีสปอร์ต ที่กำลังกลายเป็นตัวแปรสำคัญในการแก้ไขปัญหาเด็กติดเกม และเป็นทั้งโอกาสที่จะเปลี่ยนเด็กให้เป็นคนเล่นเกมล่าเงินรางวัลหรืออาจเสี่ยงนำไปสู่ปัญหาการสร้างความหวัง ความฝันที่จะเล่นเกมมืออาชีพแต่อาจจะติดเกมมากขึ้นหากรัฐและพ่อแม่ไม่เข้ามาใส่ใจดูแล

2. ปัญหา การครอบครองสื่อโดยที่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์ เนื่องจากค้นพบว่าประเทศไทยไม่มีการกำกับช่วงวัยและอายุที่เหมาะสม ทั้งในเชิงกฎหมาย และนโยบายรัฐ สถานศึกษา แต่ในเชิงการแพทย์ไทยเริ่มมีคำแนะนำเรื่องหน้าจอที่วัยเหมาะสมคือ อายุ ต่ำกว่า 2 ขวบห้ามเข้าถึงหน้าจออิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิดแล้ว

3. การใช้สื่อออนไลน์กับการพนันออนไลน์ พบว่า ปัจจุบันช่องทางเว็บไซต์และสื่อออนไลน์ ต่างๆ มีจำนวนมากที่เป็นสื่อเพื่อการพนัน ที่ปรากฏทั้งในลักษณะของเว็บพนันบอลโดยตรง หรือ การพนันผ่านรูปแบบคาสิโนออนไลน์ หรือแอบแฝงมาในลักษณะของเกมออนไลน์ และยังไม่มีกฎหมายกำกับควบคุมโดยตรงอีกทั้งเว็บไซตืเหล่านี้ยังโฆษณาผ่านสื่อเพื่อเผยแพร่ ล่อลวงให้เด็กเข้าไปเล่นลองมากขึ้น

4. การกลั่นแกล้งรังแกออนไลน์ และการตกเป็นเหยื่อคุกคามทางเพศออนไลน์ โดยเฉพาะการลังแกผ่านการถ่ายคลิปเพื่อประจานและเผยแพร่ แชร์ ปรากฏผ่านการรายงานข่าวของสื่อมวลชนอยู่เนืองๆ ส่งต่อในระดับโรงเรียนประถม และมัธยม ที่น่ากังวลคือยังไม่มีผลการสำรวจทั่วประเทศ ปัญหานี้กลายเป็นเรื่องที่ยังไม่มีใครสำรวจ วิจัยและป้องกันอย่างจริงจัง ซึ่งแตกต่างกับของต่างประเทศที่เรืองนี้นำไปสู่มาตรการทางกฎหมายและนโยบายของโรงเรียนและความตระหนักรู้ของครูและพ่อแม่ผู้ปกครอง

5. การถูกล่อลวงและล่อออกไปพบคนแปลกหน้าจากสื่อสังคมออนไลน์ ผลการสำรวจในประเทศยังพบน้อยในเชิงสถิติวิจัย แต่โดยในเชิงพฤติกรรมทางสังคม เคยมีงานวิจัยที่บ่งชี้ว่าปัญหานี้กลายเป็นพฤติกรรมต้นๆ ที่เด็กไม่ทราบว่าอันตรายและนำไปสู่การข่มขืน ถ่ายภาพบันทึกและการแบล็คเมล์กลับ ซึ่งเกิดขึ้นมากแต่ไม่มีการเก็บสถิติบันทึกที่ชัดเจนเนื่องจากมักเป็นกรณีที่เหยื่อ หรือครอบครัวไม่ต้องการให้เป็นข่าว

นอกจากนี้ยังมีปัญหาอื่นๆ เช่น 6. การใช้สื่อไปในทางเสริมสร้างอัตลักษณ์ออนไลน์สร้างภาพและเลียนแบบพฤติกรรม ค่านิยมที่ผิด 7. การหลงผิดเปิดเผยข้อมูลและความเป็นส่วนตัวบนสื่อออนไลน์ 8. การขาดการส่งเสริม สร้างทักษะการรู้เท่าทันสื่อออนไลน์ ต่อตัวเด็กและเยาวชนและครอบครัว 9. การขาดกฎหมายกฎหมายปกป้องคุ้มครองเด็กจากสื่อออนไลน์ และที่สำคัญคือ 10. การขาดหน่วยงานกำกับดูแล ป้องกันและแก้ไขปัญหาที่บูรณาการและเท่าทันสถานการณ์โดยเฉพาะ

นายธาม กล่าวว่า "รัฐและหน่วยงานเอกชน ประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง ควรสร้างและหาโอกาสที่จะนำเอาข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ในการร่วมกันวางกรอบแผนงาน เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาการใช้สื่อออนไลน์ของเด็กและเยาวชนไทย โดยเฉพาะในสถานการณ์วันนี้ ที่เด็กกับเทคโนโลยีมีความใกล้ชิดกันมากจนเกินกว่าจะแยกกันออก สิ่งสำคัญคือ การเร่งสร้างภูมิคุ้มกันสื่อในตัวเด็กและพ่อแม่ รวมทั้งการสร้างระบบหรือกลไกการกำกับดูแลเทคโนโลยีสื่อดิจิทัล และออนไลน์ที่กำลังส่งผลต่อกระบวนการเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเด็ก และจะส่งผลอย่างมากต่อการสร้างเด็กไทยเพื่อเพิ่มโอกาสและศักยภาพด้านดิจิทัลและการแข่งขันในศตวรรษที่ 21"

นายพงศ์ธร จันทรัศมี ผู้จัดการศูนย์ข้อมูลนโยบายสาธารณะเพื่อลดผลกระทบจากการพนัน มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ เปิดเผยว่า นอกจากเด็กจะต้องรู้จักและปกป้องตัวเองแล้ว ผู้ปกครองต้องมีความรู้และเข้าใจว่า สื่อออนไลน์เป็นเหมือนดาบสองคม การยื่นให้เด็กที่ยังมีวุฒิภาวะไม่เพียงพอนั้น เป็นการเปิดโอกาสให้คนแปลกหน้าเข้าถึงตัวเด็ก ผู้ปกครองจึงต้องเท่าทันเทคโนโลยีด้วย ซึ่งเมื่อมีการตั้งศูนย์ Copat แล้ว จะมีการจัดทำคู่มือสำหรับเด็กและผู้ปกครองในการเข้าถึงสื่อออนไลน์ โดยจะแบ่งเป็นแต่ละช่วงวัย ขณะนี้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า เด็กที่มีอายุต่ำกว่า ๒ ขวบไม่ควรใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ และเด็กในวัยใดควรใช้สื่อออนไลน์อย่างไร เด็ก ๘ ขวบขึ้นไป พ่อแม่ควรแนะนำอย่างไร เป็นต้น เราจะมีการจัดทำคู่มือออกมา คาดว่าจะสำเร็จภายใน ๑-๒ ปี รวมถึงจะได้มีการจัดการประเด็นปัญหาเรื่องอื่นๆในเชิงลึกมากขึ้น เช่น พนันออนไลน์ กับมาตรการทางกฎหมาย การร่วมมือเฝ้าระวัง การแจ้งเว็บไวต์ที่ผิดกฎหมาย หรือประเด็นการกลั่นแกล้งออนไลน์ เช่น การถ่ายรูปแล้วโพสต์แซวกันในเฟสบุ๊ค บางกรณีเป็นความกระทบกระเทือนทางจิตใจ การถูกล่อล่วงและการถูกนำข้อมูลไปแบลคเมล์ เป็นต้น รวมถึงการออกแบบระบบสำหรับการส่งต่อหน่วยงานภาครัฐ เช่น กรณีที่เกิดปัญหาเช่นนี้ในโรงเรียน จะส่งต่อให้กับหน่วยงานใดดูแล และเยียวยาเด็กได้บ้าง

" ถือเป็นเรื่องที่ดีและต้องขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ให้ความสำคัญและเปิดโอกาสให้เกิดการทำงานร่วมกัน รวมถึงหน่วยงานต่างๆที่ให้ความสำคัญ การดูแลเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ต้องอาศัยการทำงานเป็นทีมของทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง และต้องสร้างความสมดุลระหว่างการปกป้องและการสนับสนุนให้ใช้สื่อออนไลน์ เพื่อไม่ทำให้เป็นการปิดกั้นมากเกินไปและไม่เป็นการสนับสนุนมากเกินไป ที่สำคัญคือการมีกฎหมายและการบังคับใช้ เช่นในต่างประเทศเด็กที่อายุต่ำกว่า ๑๓ ห้ามเล่นสื่อออนไลน์ เป็นต้น อีกทั้งเด็กๆ ใช้วิธีติดต่อเพื่อนทางโลกออนไลน์มากขึ้น ผู้ปกครอง ครู และผู้นำชุมชนต้องรู้เท่าทัน " นายพงศ์ธร กล่าว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๔๗ เอ. เจ. พลาสท์ คว้า 2 รางวัลใหญ่ จาก SET Awards 2024 และได้รับการประเมิน CGR ดีเลิศ ระดับ 5 ดาว
๑๖:๑๓ เปิดมาตรการ พักหนี้ ลดดอกเบี้ย ช่วยเหลือ SMEs ถูกน้ำท่วมในงาน มันนี่ เอ็กซ์โป 2024 เชียงใหม่
๑๖:๓๙ หน้าหนาวมาเยือน! กรมอนามัยเตือนดูแลสุขภาพให้พร้อม เด็กเล็ก-ผู้สูงอายุเสี่ยงเจ็บป่วยง่าย
๑๖:๕๗ เปิดรันเวย์อวดผลงานไอเดียสร้างสรรค์ของ 5 ผู้ชนะรางวัลทุนการศึกษา จากโครงการ Jaspal Group Scholarship Program
๑๖:๐๘ กิฟฟารีน แนะนำไอเทมเด็ด กิฟฟารีน เอช เอ็ม บี พลัส วิตามินดี 3 สำหรับช่วยดูแลมวลกล้ามเนื้อให้แข็งแรง
๑๕:๐๑ ไขข้อสงสัย สินเชื่อรถแลกเงินคืออะไร
๑๕:๓๘ ซื้อมอเตอร์ไซค์ ออกรถใหม่ มีขั้นตอนอย่างไร ต้องเตรียมอะไรบ้าง
๑๕:๐๕ ยางขอบ 17 ยี่ห้อไหนดีที่ขับขี่สนุก และยังคงนุ่มสบาย
๑๔:๕๖ heygoody คว้าแชมป์จากเวที Thailand Influencer Awards 2024 ตอกย้ำความเข้าใจลูกค้า Introvert
๑๔:๐๓ เมืองไทยประกันชีวิต คว้า 4 รางวัลใหญ่ระดับสากล ด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล และเป็นองค์กรสถานประกอบการดีเด่นด้านแรงงานสัมพันธ์และสวัสดิการ