เวทีสาธารณะนานาชาติครั้งนี้เป็นการนำเสนอหลักนิติธรรมใน 5 ประเด็นหลัก ครอบคลุมหัวข้อการกำหนดนโยบาย การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน หลักนิติธรรมในบริบทโลก การนำเสนอนโยบายในเอเชีย และ การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยมีไฮไลต์อยู่ที่องค์ความรู้จากวิทยากรที่มีชื่อเสียงระดับโลก
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) กล่าวว่า "การจัด TIJ International Forum ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักนิติธรรม เป็นการผสานมุมมองหลักนิติธรรมจากสากลสู่การพัฒนาในภูมิภาค โดยเป็นเวทีนานาชาติแห่งแรกและแห่งเดียวในเอเชีย ที่มีผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาวิชาที่มีชื่อเสียงในระดับโลกจำนวนมาก เข้าร่วมเปิดมุมมองจากกรณีศึกษาจากนานาชาติ ซึ่งจะสนับสนุนให้ผู้เข้าร่วมในเวทีนี้ ทั้งไทย เอเชีย และนานาชาติ สามารถนำหลักนิติธรรมไปปฏิบัติและประยุกต์ใช้ได้จริง และเป็นหนึ่งในความพยายามในการลดความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมที่ปรากฏในสังคม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน"
ในงานนี้ ดร. เดวิด เคนเนดี้ ผู้อำนวยการสถาบันกฎหมายและนโยบายระดับโลก มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้กล่าวปาฐกถานำเรื่อง "หลักนิติธรรมและมุมมองเชิงนโยบาย" ดร. แวเลอรี่ ฮันส์ อาจารย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยคอร์แนล ร่วมเปิดมุมมองเรื่อง "หลักนิติธรรมและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน" และอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายสถาบันระดับโลก ได้ร่วมนำเสนอหลักนิติธรรมในมุมต่างๆ ร่วมด้วยการเชิญผู้นำรุ่นใหม่ที่เข้าร่วม TIJ Workshop for Emerging Leaders on the Rule of Law and Policy ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-11 มกราคมที่ผ่านมา นำกรอบความคิดด้านหลักนิติธรรมและการวางนโยบายที่เพิ่งได้รับ มาตกผลึกเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายสำหรับภูมิภาคในเวทีสาธารณะในครั้งนี้ด้วย
การจัดเวทีสาธารณะว่าด้วยหลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ด้านหลักนิติธรรมที่เปิดกว้างให้กับนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และนักบริหารจากทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน และตอบข้อซักถามเกี่ยวกับกลยุทธ์ในการนำหลักนิติธรรมไปใช้ในทางปฏิบัติในสภาวะแวดล้อมที่แตกต่างกัน ประเด็นความท้าทายของเวทีนี้อยู่ที่การกระตุ้นให้เกิดกระแสการยอมรับความสำคัญและประโยชน์ของหลักนิติธรรมในวงกว้าง รวมทั้งนำเสนอกรณีตัวอย่างของปัญหาและการนำหลักนิติธรรมไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม
"การแลกเปลี่ยนแนวคิดจากกรณีศึกษาในบริบทแวดล้อมที่แตกต่างเพื่อหาทางออกร่วมกันนี้ จะก่อให้เกิด ความตระหนักถึงความเชื่อมโยงระหว่างหลักนิติธรรมและการพัฒนามากขึ้น อันจะนำไปสู่การตอบรับจากประชาชนและส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ในการผสานหลักนิติธรรมเข้าไปในทุกบริบทของการดำรงชีวิตโดยเฉพาะ ประเด็นความเหลื่อมล้ำที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการร่วมกันแก้ไข เพื่อร่วมสร้างสังคมที่ตั้งมั่นในวัฒนธรรมแห่งการเคารพกติกาและเชื่อมั่นในคุณค่าพื้นฐานของหลักนิติธรรม สิ่งเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานของการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวไปอย่างมั่นคงและยั่งยืน" ศาสตราจารย์ พิเศษ ดร. กิตติพงษ์ กล่าวในที่สุด