หลังจากการทำงานศิลปะของ อ.ปัญญา วิจินธนสาร ได้รับความชื่นชมในวงกว้างในงานที่เน้นรูปแบบไทยประเพณีนิยมมากว่าสามทศวรรษ ชีวิตได้เคลื่อนผ่านพร้อมการคิดสร้างสรรค์งานศิลปะด้วยมุมมองใหม่และสร้างสรรค์ด้วยวิธีใหม่เป็นงานร่วมสมัยโดยยังคงความลุ่มลึกของความเป็นประเพณีนิยมไทยที่ผ่านการตีความในแบบใหม่ ด้วยความคิดที่เห็นงานศิลปะไม่ได้หยุดนิ่งอยู่เพียงความงามทางสายตา แต่ทว่ายังเป็นการสร้างสรรค์ความงามทางจิตใจให้กับผู้ชมงานและกระตุ้นให้เกิดการวิพากษ์สังคมที่เป็นไปในโลกปัจจุบัน งานนิทรรศการใหม่ในครั้งนี้ จึงเต็มไปด้วยแรงบันดาลใจและการสร้างสรรค์ที่แปลกใหม่
หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าฯ ได้ร่วมสนับสนุนการแสดงงานศิลปะครั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ในการก่อตั้ง "หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ" โดยมีพระราชประสงค์ให้ หอศิลป์สมเด็จสมเด็จพระนางเจ้าฯ แห่งนี้ เป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการของ ศิลปินรุ่นใหม่ที่มีผลงานดีเด่น แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย ตลอดจนศิลปินอาวุโสที่ได้รับการยกย่อง สลับสับเปลี่ยนจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนตลอดปี พระองค์ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ ซึ่งนายชาตรี โสภณพนิช และผู้มีจิตศรัทธา ร่วมกันทูลเกล้าถวาย กลับคืนเพื่อมาเป็นทุนประเดิมในการจัดทำหอศิลป์ โดยมอบหมายให้นายชาตรี โสภณพนิช ประธานกรรมการธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการภายใต้มูลนิธิหอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
ในการแสดงงานนิทรรศการครั้งนี้ มีแนวคิดเริ่มจากการตั้งคำถามเกี่ยวกับวงจรของทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้เวลานับแสนนับล้านปีสร้างขึ้นโดยธรรมชาติได้ถูกขุดขึ้นมาจากผืนดิน ผืนน้ำ มาผ่านกระบวนการเทคโนโลยีการผลิตเชิงอุตสาหกรรม เมื่อถูกใช้งานครั้งแล้วครั้งเล่าจนเสื่อมสภาพทางการใช้สอย ชีวิตของทรัพยากรจบลงเพียงเท่านี้แล้วหรือ ทรัพยากรเหล่านั้นกลายสภาพเป็นได้แค่เพียงขยะ ที่จะเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมต่อไปเมื่อหมดประโยชน์เชิงเศรษฐกิจแล้วเช่นนั้นหรือ จากการเพ่งมองสิ่งที่เกิดขึ้นและกลั่นกรองจากจิตพิเคราะห์ อ.ปัญญา ไม่ได้เพียงแค่วิพากษ์ความเป็นไปของโลกเชิงเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม แต่ได้วิพากษ์ความเปลี่ยนแปลงของโลกทางด้านการเมืองซึ่งกลายป็นต้นตอของปัญหาความขัดแย้งระหว่างเผ่าพันธุ์ ระหว่างประเทศ จนเกิดการทำลายล้างสังหารผู้คนที่ถูกจัดเป็นคนต่างเผ่าอย่างไร้ความปรานี ผลลัพธ์คือการอพยพออกจากถิ่นกำเนิดเพื่อแสวงหาที่หลบภัยและการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในเมืองใหญ่หลายแห่งที่เป็นศูนย์กลางทางการเมืองและเศรษฐกิจสำคัญๆของโลก
ภายใต้แนวคิด "Ready Myth" ต้นกำเนิดมาจากเจตนาล้อเลียนคำว่า 'readymade' โดยมาร์เซล ดูชองป์ ศิลปินชาวฝรั่งเศสผู้ปฏิวัติความคิดเกี่ยวกับการสร้างสรรค์งานศิลปะเสียใหม่ โดยการสร้าง Bicycle Wheel ซึ่งเป็นการนำล้อจักรยานและม้านั่งเชื่อมต่อกันเป็นรูปทรงใหม่เพื่อสะท้อนแนวคิดใหม่ Art as Idea เพื่อบ่งบอกว่าไอเดียนั้นสำคัญกว่าตัววัตถุ สังคมปัจจุบันถูกครอบงำด้วยระบอบบริโภคนิยม แม้ศิลปะจะขยายอาณาเขตกว้างไกลอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนเป็นผลจากการแสวงแนวทางศิลปะรูปแบบใหม่ๆของเหล่าศิลปิน แต่กระนั้นผู้คนต่างหลงใหลต่อความสุขสบายที่วัตถุสร้างจากนวัตกรรมทางเทคโนโลยีได้มอบให้ วงการศิลปะต้องแข่งขันอย่างหนักกับนวัตกรรมใหม่เหล่านี้ที่ผลักดันให้มนุษย์วัดคุณค่ากันด้วยอำนาจทางวัตถุ เพื่อจะได้กลับมาทำหน้าที่ส่องทางสัจธรรมทางจิตวิญญาณของมนุษยชาติได้อีกครั้งหนึ่ง อาจารย์ปัญญาจึงได้นำเสนองานศิลปะในแนว installation เป็นการนำวัสดุเหลือใช้ต่างประเภท ต่างรูปทรงและการใช้งาน ซึ่งเป็นผลผลิตจากเทคโนโลยี และอุตสาหกรรมการผลิต ที่เคยมีประโยชน์เพื่อการบริโภคและอุปโภค อาทิเช่น ฝากระโปรงรถยนต์เก่า มาสร้างคุณค่าให้เกิดขึ้นอีกครั้ง ไม่ใช่เพื่อการใช้งานแต่เป็นคุณค่าทางความงาม เพื่อให้ศิลปะได้ชี้ทางสว่างแก่สังคมด้วยสัจธรรมอีกครั้งหนึ่ง
ผลงานที่จัดแสดงมีทั้งงานจิตรกรรม ประติมากรรม และสื่อผสม ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยจะเริ่มเปิดให้บุคคลที่สนใจเข้าชมการติดตั้งงานศิลปะครั้งนี้ด้วยตั้งแต่วันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๖๐ และนิทรรศการจะจัดแสดงถึงวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๖๑