นายแพทย์ดนัย เจียรกูล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จ.อุบลราชธานี เปิดเผยว่า ในช่วงนี้พบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงในหลายพื้นที่ ส่วนมากผู้ป่วยเป็นเด็กและผู้สูงอายุ เกิดจากเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย อาทิ โนโรไวรัส และ ไวรัสโรตา ซึ่งพบในผู้ใหญ่มากขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงจากฝนเป็นหนาว ทำให้ไวรัสเติบโตได้ดี โดยไวรัสโรตาไม่ใช่ไวรัสตัวใหม่ แต่มีมานานแล้วและยืนยันว่ารุนแรงน้อยกว่าอหิวาตกโรค จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการรายงานผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงเพิ่มขึ้น และพบว่ามีผู้ป่วยจากการติดเชื้อไวรัสโรต้าในกลุ่มผู้ใหญ่เพิ่มขึ้น จากที่กรมควบคุมโรค ได้สุ่มตรวจหาเชื้อก่อโรคในผู้ป่วยอุจจาระร่วง จำนวน 32 ราย พบเชื้อไวรัสโรต้า 30 ราย จากข้อมูลกรมควบคุมโรค ปี 2559-2561 มีรายงานเหตุการณ์การระบาดของโรคอุจจาระร่วงที่ทราบเชื้อสาเหตุ เข้าเกณฑ์การสอบสวนโรค ของกรมควบคุมโรค จำนวน 13 เหตุการณ์ เกิดจากเชื้อไวรัสโรต้า พบ 3 เหตุการณ์ และโนโรไวรัส พบ 10 เหตุการณ์ โดยเหตุการณ์ทั้งหมดมีรายงานผู้ป่วยทั้งสิ้น 1,510 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต
นายแพทย์ดนัย กล่าวต่ออีกว่า สำหรับข้อบ่งใช้วัคซีนป้องกันโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรตา นั้น ใช้เฉพาะในเด็กเล็ก เป็นวัคซีนชนิดหยอดเข้าทางปาก จำนวน 2 หรือ 3 ครั้ง ขึ้นอยู่กับชนิดของวัคซีน อายุที่ให้วัคซีน คือ 2 และ 4 เดือน ถ้าเป็นชนิดหยอดสองครั้ง และ 2, 4 และ 6 เดือน สำหรับชนิดหยอด 3 ครั้ง โดยวัคซีนสามารถลดการป่วยหรือลดความรุนแรงของโรคได้ ซึ่งมีใช้ในประเทศไทยเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว
คำแนะนำสำหรับประชาชนในการป้องกันโรค คือใช้มาตรการ "กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ" ดังนี้ 1.รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ด้วยความร้อน และสะอาด 2.ใช้ช้อนกลางในการรับประทานอาหารร่วมกัน และ 3.หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ ทั้งก่อนและหลังปรุงอาหาร และภายหลังการใช้ห้องน้ำ อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนหมั่นสังเกตอาการ หากเริ่มมีไข้ อาเจียน หรืออุจจาระร่วง ควรหยุดเรียน หยุดงาน หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาด ดื่มน้ำเกลือแร่หรือสารละลายเกลือแร่ เพื่อทดแทนสารน้ำและเกลือแร่ที่สูญเสียไป ไม่ควรซื้อยาฆ่าเชื้อกินเอง เพราะโรคนี้สามารถหายได้เอง แต่หากอาการรุนแรงขึ้น เช่น อาเจียนหรือถ่ายมากขึ้น โดยเฉพาะในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ ให้รีบพบแพทย์โดยเร็ว หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422