"การลดนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ให้อยู่ที่ 500,000 – 550,000 ตัว เป็นอีกแนวทางที่มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการความสมดุลระหว่างการผลิตไข่ไก่ให้เหมาะสมกับการบริโภคตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งจะเห็นผลระยะยาว และเมื่อดำเนินการควบคู่กับมาตรการอื่น โดยเฉพาะ ความร่วมมือช่วยกันปลดแม่ไก่ยืนกรงร่วมด้วย เชื่อว่าจะช่วยลดผลกระทบจากปัญหาราคาไข่ไก่ได้อย่างแน่นอน" นายมาโนช กล่าวและว่า
ที่ผ่านมาเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่เผชิญกับการขายไข่ไก่ในราคาต่ำกว่าต้นทุน ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานกว่า 1 ปี โดยปัจจุบันราคาขายไข่ไก่หน้าฟาร์มเฉลี่ยอยู่ที่ฟองละ 2.10-2.20 บาท ขณะที่ข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ระบุต้นทุนการผลิตไข่ไก่ไว้ที่ฟองละ 2.80–2.90 บาท เท่ากับว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ทุกคน ต้องแบกภาระขาดทุนสะสมมาโดยตลอด โดยเฉพาะผู้เลี้ยงรายย่อยที่ต้องขาดทุนมานาน หลายรายไม่สามารถรับสภาพขาดทุนต่อไปได้อีก จึงจำเป็นต้องเลิกเลี้ยงไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แม้ว่าที่ผ่านมา เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ทั่วประเทศได้ร่วมกันดำเนินมาตรการเร่งด่วน ทั้งการเร่งปลดแม่ไก่ยืนกรง ควบคู่กับการจัดหาตลาดเพื่อระบายไข่ไก่ออกจากระบบ แต่ยังไม่สามารถลดผลผลิตไข่ไก่ลงได้ เนื่องจากเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายทางอย่างเดียว ยังไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ครบวงจร จึงทำให้ปริมาณการผลิตไข่ไก่ยังคงมีปริมาณมากกว่าความต้องการผู้บริโภค ส่งผลกระทบต่อราคาไข่ไก่ตกต่ำอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การที่ ผู้เลี้ยงไก่ร่วมกันปลดแม่ไก่ยืนกรงเพิ่มขึ้นอีก 2 ล้านตัว ควบคู่กับการลดนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ จะช่วยให้สถานการณ์การผลิตไข่ไก่มีความสมดุลกับการบริโภคในปีนี้ได้ดีขึ้น
"เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่เดือดร้อนมานาน ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกันช่วยดำเนินมาตรการลดการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ให้ได้ตามที่ Egg Board ขอความร่วมมือ เพื่อช่วยรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่ ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่อยู่ได้ และสร้างความยั่งยืนแก่อุตสาหกรรมการผลิตไข่ไก่ของไทย" นายมาโนช กล่าว