ดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้า (มีนาคม 2561) อยู่ที่ 153.94 อยู่ในเกณฑ์ "ร้อนแรง" (Bullish) (ช่วงค่าดัชนีระหว่าง 120 - 160) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.08% จากเดือนที่ผ่านมาที่ 150.81
ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มบัญชีนักลงทุนต่างประเทศยังคงอยู่ที่ระดับร้อนแรงอย่างมาก ขณะที่กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับร้อนแรงอย่างมาก โดยกลุ่มสถาบันภายในประเทศและกลุ่มนักลงทุนรายบุคคลปรับตัวลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ระดับร้อนแรงเช่นเดียวกับเดือนก่อนหน้า
หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดธนาคาร (BANK) ส่วนหมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ (MEDIA) เป็นหมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด
ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ ภาวะเศรษฐกิจในประเทศ
ขณะที่ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ ความขัดแย้งระหว่างประเทศ
"ภาวะการลงทุนในเดือนธันวาคม ดัชนีตลาดหุ้นไทยมีการเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้นจากใกล้เคียง 1700 จุด มาปิดทำการที่ 1753.71 จุด ใกล้เคียงกับดัชนีปิดทำการสูงสุดในประวัติศาสตร์ จากปัจจัยหนุนหลักจากความเชื่อมั่นในภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 3.9% ในปี 2017 และคาดการณ์ว่าจะขยายตัว 3.9-4.1% ในปี 2018 จากการที่มีการฟื้นตัวทั้งจากภาคการลงทุนเอกชน การลงทุนระบบสาธารณูปโภคของภาครัฐที่จะอนุมัติโครงการและเริ่มสู่ช่วงการก่อสร้างและเบิกจ่ายงบประมาณจำนวนมาก รวมถึงการบริโภคภาคเอกชนที่เริ่มมีฟื้นตัวขึ้น ตัวเลขการท่องเที่ยวที่มีการเติบโตชัดเจน รวมถึงตัวเลขเงินทุนไหลเข้าที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ทำให้ความเชื่อมั่นนักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในระดับร้อนแรง สำหรับปัจจัยต่างประเทศมีปัจจัยหนุนจากภาวะเศรษฐกิจในภูมิภาคที่มีการเติบโต รวมถึงตลาดหุ้นของสหรัฐที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากแผนปฏิรูปภาษีและการคาดการณ์ Normalization ที่จะยังคงเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ตามปัจจัยที่ต้องจับตามองจากความขัดแย้งในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และคาบสมุทรเกาหลียังเป็นปัจจัยกดดันการลงทุน"
ด้านนางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า "เป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ลงทุนจะต้องเข้าใจตนเองเสียก่อน ว่าตนเองเป็นผู้ลงทุนระยะสั้นเพื่อเก็งกำไรหรือเป็นผู้ลงทุนระยะยาว สำหรับผู้ลงทุนระยะยาวซึ่งเข้าใจและยอมรับความผันผวนของการลงทุนในหุ้นได้นั้น เราเชื่อมั่นว่าจะได้รับผลดีจากการลงทุนในหุ้นมากกว่าการลงทุนในตราสารหนี้ซึ่งยังคงอยู่ในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ แต่ที่ดีที่สุดคือการผสมผสานการลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทต่างๆ ให้เหมาะสมกับเป้าหมายการลงทุน ซึ่งส่วนสำคัญที่สุดคือระยะเวลาในการลงทุน เพราะถ้ายาวนานหลายๆ ปี ก็สามารถจัดส่วนให้อยู่ในหุ้นได้มาก แต่ถ้าเงินส่วนนั้นจะต้องใช้ในระยะสั้นก็ไม่ควรอยู่กับหุ้น"