1. เห็นชอบการประกาศเขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมเพิ่มเติม
ที่ประชุมเห็นชอบและนำเสนอคณะกรรมการนโยบายกำหนดเขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมเพิ่มเติม จากเดิมที่มีการกำหนดไปแล้วจำนวน 2 นิคม ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรม Smart Park จังหวัดระยอง และนิคมอุตสาหกรรมเหมราช อีสเทิร์นซีบอร์ด แห่งที่ 4 จังหวัดระยอง โดยเขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมที่จะมีการประกาศเพิ่มเติมมีจำนวนทั้งสิ้น 18 แห่ง ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ประมาณเงินลงทุนทั้งสิ้น 1.25 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย จังหวัดระยอง จำนวน 5 แห่ง จังหวัดชลบุรี จำนวน 12 แห่ง และจังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 1 แห่ง
นอกจากนั้น ที่ประชุมยังมีมีมติเห็นชอบการยกระดับนิคมอุตสาหกรรม ซี.พี. ระยอง เป็นเขตส่งเสริม เพื่อกิจการอุตสาหกรรม รองรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่สื่อสารด้วยภาษาจีนโดยเฉพาะเป็นเขตส่งเสริมแห่งที่ 19
ดังนั้นจะทำให้พื้นที่ EEC มีเขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมรวมทั้งสิ้น 21 แห่ง เป็นพื้นที่ประกาศ เขตส่งเสริมพิเศษ 86,775 ไร่ พื้นที่รองรับการลงทุน 28,666 ไร่ ประมาณการเงินลงทุน 1.31 ล้านล้านบาท
2. เห็นชอบแผนปฏิบัติการการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในพื้นที่ EEC
ที่ประชุมเห็นชอบแผนปฏิบัติการการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ EEC ที่มีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาโลจิสติกส์แบบไร้รอยต่อ เชื่อมโยงทั้งทางบก น้ำ อากาศ เพื่อรองรับการพัฒนา EEC มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภูมิภาค ตั้งเป้าให้ท่าอากาศยานอู่ตะเภาเป็นศูนย์กลางและเมืองการบินของภูมิภาค และให้ท่าเรือแหลมฉบังเป็นประตูเศรษฐกิจของ CLMV และอนุภูมิภาค และส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคเอกชน รวมถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ ประกอบด้วย 168 โครงการ กรอบวงเงินลงทุนรวม 988,948.10 ล้านบาท โดยเป็นงบ PPP 583,500 ล้านบาท (59%) งบประมาณแผ่นดิน 296,684 ล้านบาท (30%) งบรัฐวิสาหกิจ 98,895 ล้านบาท (10%) และกองทุนหมุนเวียน (กองทัพเรือ) คิดเป็น 1% โดยแบ่งแผนดำเนินการออกเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย แผนงานระยะเร่งด่วน (พ.ศ. 2560-2561) แผนงานระยะกลาง (พ.ศ. 2562-2564) และแผนงานระยะต่อไป (ตั้งแต่ พ.ศ. 2565)
ผลที่คาดว่าจะได้รับคือระบบการขนส่งมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ลดต้นทุนโลจิสติกส์ให้แข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ และเมื่อรวมกับโครงข่ายภายนอกพื้นที่ EEC จะลดต้นทุนโลจิสติกส์ได้ถึง 2% ของ GDP หรือ ปีละ 200,000 ล้านบาท ซึ่งจะเหนี่ยวนำให้เกิดการลงทุนจากภาคเอกชนเพิ่มเติม โดยคาดจะเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 2.1 – 3.0 ล้านล้านบาท และประชาชนจะได้รับประโยชน์จากการเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนคุณภาพสูง
3. เห็นชอบแผนปฏิบัติการการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ EEC
ที่ประชุมเห็นชอบแผนปฏิบัติการการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกและให้นำไปรับฟังความเห็นจากพื้นที่ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อการยกระดับคุณภาพการท่องเที่ยวในพื้นที่ EEC ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรีและระยอง สู่การท่องเที่ยวระดับโลกอย่างยั่งยืน รองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี และกลุ่มเชิงสุขภาพ เน้น พัทยา-สัตหีบ-ระยอง เป็นแกนการพัฒนาการท่องเที่ยว เน้นสนามบินอู่ตะเภาเป็นจุดเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวใหม่กับการท่องเที่ยวเชิงชุมชนและวิถีชีวิตชุมชน รวมทั้งการจัดการสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะการกำจัดขยะตามแนวชายฝั่งทะเลและเกาะท่องเที่ยวสำคัญ
แผนดังกล่าวประกอบไปด้วย 4 แผนงาน ได้แก่ การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก การพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยว และการสร้างความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว รวมทั้งสิ้น 47 โครงการ กรอบวงเงินลงทุน 30,247.22 ล้านบาท โดยเป็นงบ PPP 23,000 ล้านบาท (76.04%) งบประมาณแผ่นดิน 6,897.22 ล้านบาท (22.80%) และงบรัฐวิสาหกิจ 350 ล้านบาท (1.16%)
ผลที่คาดว่าจะได้รับคือ มีผู้มาเยี่ยมเยือนเพิ่มขึ้นจาก 29.89 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2560 เป็น 46.72 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2564 (เพิ่มขึ้น 1.5 เท่า) และมีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจาก 285,572 ล้านบาท ใน พ.ศ. 2560 เป็น 508,590 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2564 (เพิ่มขึ้น 1.8 เท่า)
4. รับทราบความคืบหน้า ร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. ….
ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าว่าในขณะนี้ ร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. …. อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ ในขั้นที่ 2 โดยหลังจากที่มีการพิจารณาครบทุกมาตราแล้ว จะจัดทำรายงานเสนอประธานสภา เพื่อประชุมฯในวาระที่ 3 คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2561
5. รับทราบความคืบหน้าด้านโครงการโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ 5 โครงการ
ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าด้านโครงการโครงสร้างพื้นฐาน ที่จะมีการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน (EEC Track) ใน 5 โครงการสำคัญ ดังนี้
1. โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง เชื่อม 3 ท่าอากาศยาน (ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา)
กำหนดร่างขอบเขตงาน (TOR) จะแล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 และประกาศเชิญชวน และทำการคัดเลือกเอกชนได้ในเดือนกรกฎาคม 2561
2. ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา
อยู่ระหว่างกำหนดร่างขอบเขตงาน (TOR) ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2561
3. ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) ของการบินไทย และ Airbus
จะมีการลงนามความร่วมมือด้านการลงทุนระหว่าง การบินไทย และ Airbus ที่ตูลูส ประเทศฝรั่งเศส ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561
4. ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3
ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาและวิเคราะห์ความเหมาะสมด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงินและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะได้ที่ปรึกษาประมาณเดือนมีนาคม 2561 และจะใช้เวลาศึกษาอีก 3 เดือน แล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2561 และจะได้เอกชนร่วมทุนประกอบการตามแผน EEC ในเดือนพฤศจิกายน 2561 และได้ผู้รับจ้างก่อสร้างฯ ตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ปี 2560 ภายในเดือนมกราคม 2562
5. ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3
กำหนดร่างขอบเขตงาน (TOR) จะแล้วเสร็จภายในเดือน เมษายน 2561 และประกาศเชิญชวนเอกชนได้ในเดือนมิถุนายน 2561 จะทำให้ได้สามารถคัดเลือกเอกชนได้ในเดือนกันยายน 2561 และดำเนินการได้ในเดือนตุลาคม 2561 โดยขณะนี้ได้ทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) เสร็จสิ้นแล้วกำลัง รอรับความเห็นชอบ
6. รับทราบความคืบหน้าเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าในการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ที่มีวิสัยทัศน์ให้ EECi เป็นระบบนิเวศนวัตกรรมชั้นนำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ซึ่งผลงานวิจัยและนวัตกรรมนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและความอยู่ดีกินดีของประชาคมอย่างยั่งยืน และมีกรอบการพัฒนา EECi ที่มุ่งเน้น "6 อุตสาหกรรมเป้าหมาย 3 เมืองนวัตกรรมมุ่งเน้น และ 5 ยุทธศาสตร์ดำเนินการ" คือ
• 6 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรสมัยใหม่และเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมแบตเตอรี่และยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และ อุตสาหกรรมการบินและอวกาศ และอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์
• 3 เมืองนวัตกรรมมุ่งเน้น ได้แก่ ศูนย์กลางการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมฐานชีวภาพ ศูนย์กลางการวิจัยและนวัตกรรมด้านระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะ และศูนย์กลางและฐานในการรังสรรค์นวัตกรรมจากเทคโนโลยีอากาศยาน อวกาศ และภูมิสารสนเทศ
• 5 ยุทธศาสตร์ดำเนินการและกลไกสนับสนุน ประกอบด้วย การนำ วทน. ยกระดับชุมชนและอุตสาหกรรม, วิจัยและนวัตกรรม การเตรียมความพร้อมและการพัฒนาบุคลากรด้าน วทน.พัฒนา การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างกลไกความร่วมมือ และถ่ายทอดองค์ความรู้ จากในและต่างประเทศ