กรุงเทพฯ--10 พ.ค.--ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย
การเปลี่ยนแปลงค่าเงิน ราคาน้ำมัน และความต้องการใช้ยางพาราสูง ส่งผลให้การเทรดใน AFET ร้อนแรง ทะลุ 1,058 สัญญา สร้างสถิติใหม่ (New High) โดยมูลค่าการซื้อขายรวม 414,536,000 บาท
นางนภาภรณ์ คุรุพสุธาชัย กรรมการผู้จัดการ ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย หรือ AFET เปิดเผยว่า “การซื้อขายสัญญาล่วงหน้ายางแผ่นรมควันชั้น 3 (RSS3) และ น้ำยางข้น (Latex) ในวันนี้มีความร้อนแรงมาก จากปริมาณการซื้อขายรวมทั้งตลาด จำนวน 1,058 สัญญา มูลค่าการซื้อขายรวมกว่า 414,536,000 บาท ซึ่งเป็นการสร้างสถิติใหม่ (New High) สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เปิดซื้อขายมา และสูงสุดในรอบปี 2549 โดยซื้อขายสัญญาล่วงหน้า ยางแผ่นรมคันชั้น 3 ยังคงเป็นสินค้าเอกที่นักลงทุนให้ความสนใจ ในขณะที่สินค้าน้องใหม่อย่าง น้ำยางข้น ก็ได้รับความนิยมเป็นอันดับที่ 2
นางนภาภรณ์ กล่าวว่า “ตลอดสัปดาห์นี้ การซื้อขายสัญญาล่วงหน้า ยางแผ่นรมควันชั้น 3 (RSS3) และ น้ำยางข้น (Latex) มีปริมาณการซื้อขายสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ในวันนี้ (9 พ.ค.49) ปริมาณการซื้อขายใน AFET มีความคึกคักเป็นอย่างมากมีผู้เข้ามาซื้อขายสัญญาล่วงหน้า โดยเฉพาะ สัญญาล่วงหน้ายางแผ่นรมควันชั้น 3 (RSS3) มีปริมาณการซื้อขายสูงสุดถึง 827 สัญญา มูลค่าการซื้อขาย 349,450,500 บาท ในขณะที่สินค้าน้องใหม่ อย่าง น้ำยางข้น (latex) มีปริมาณการซื้อขาย 231 สัญญา และมีมูลค่าการซื้อขาย 65,085,500 บาท โดยราคาซื้อขายยางมีการปรับตัวไปในทิศทางเดียวกับราคายางของตลาดในเซี่ยงไฮ้และญี่ปุ่น
นางนภาภรณ์ ยังกล่าวต่อว่า “ปริมาณการซื้อขายใน AFET มีปริมาณการซื้อขายคึกคักสูงถึง 1,058 สัญญานั้น เนื่องมาจาก การเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาทและเงินเยน รวมทั้งราคาน้ำมัน ตลอดจนความต้องการใช้ยางพาราในตลาดโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความต้องการในจีนที่ปรับตัวสูงมากขึ้น จนทำให้ราคาซื้อขายล่วงหน้ายางพาราในตลาดเซี่ยงไฮ้ปรับตัวขึ้นตาม ส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังราคาซื้อขายยางพาราล่วงหน้าในตลาด TOCOM ของญี่ปุ่น และการซื้อขายยางแผ่นรมควันชั้น 3 และน้ำยางข้นในตลาด AFET
การปรับตัวของราคาที่เป็นไปทิศทางเดียวกันของทั้ง 3 ตลาดนั้น สะท้อนให้เห็นถึงความสอดคล้องของการซื้อขายยางพาราล่วงหน้าของตลาดล่วงหน้าในต่างประเทศและของไทย ที่สะท้อนให้เห็นถึงกลไกราคาในตลาดโลกที่มีการปรับตัวตามอุปสงค์และอุปทานของสินค้ายาง
นางนภาภรณ์ ยังกล่าวต่ออีกว่า “ปริมาณการซื้อขายที่เพิ่มขึ้นแสดงถึงความมั่นใจของทั้งผู้ซื้อและผู้ขายไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต หรือผู้ใช้ยางพารา รวมทั้งนักลงทุน โดยการซื้อขายใน AFET เปรียบเหมือนกับการลงทุนในตลาดจีน ญี่ปุ่นและสิงคโปร์”